Design Patent I

เวลาที่มีเพื่อนต่างชาติถามผม ว่าทำไมประเทศไทยเราถึงไม่ค่อยมีงานออกแบบที่สามารถนำเข้าสู่อุตสาหกรรม สร้างรายได้เข้าประเทศได้มากๆ ทั้งๆที่ประเทศนี้ก็มีนักออกแบบระดับแนวหน้าของภูมิภาคอยู่หลายคน ผมก็มักจะอธิบายได้ง่ายที่สุด เป็นเพราะว่าสิทธิทางปัญญาในประเทศนี้ เป็นสิ่งที่ละเมิดกันได้ง่าย ออกแบบอะไรไปแล้วขายดี เดี๋ยววันพรุ่งนี้โรงงานใหญ่ๆก็พร้อมจะลอกแบบไปทำขาย เป็นเรื่องที่สร้างความท้อแท้ให้กับนักออกแบบ โดยเฉพาะนักออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ต้องการทำมาหากินในอาชีพนี้ จนแทบจะไม่มีใครอยู่ในอาชีพนี้กันต่อไป การมีอยู่ในการสร้างสรรค์ด้านนี้ จึงไม่ค่อยมีมากนัก เมื่อเทียบกับจำนวนบัณฑิตที่เราผลิตกันออกมา

ความเจ็บปวดเริ่มต้นที่กระบวนการในการขอจดสิทธิบัตรทางด้านการออกแบบในประเทศไทยเป็นเรื่องที่ยุ่งยากมาก จนแทบจะเป็นไปไม่ได้ เอกสารมากมายกว่าการจัดตั้งบริษัท และยังใช้เวลาดำเนินการไม่น้อยกว่า 3-4 ปี ซึ่งกว่าจะจดได้ (หรือไม่ได้) งานออกแบบชิ้นนั้น ก็จะล้าสมัยไปนานละ ทำให้ไม่มีนักออกแบบคนไหนไปคิดเรื่องจดสิทธิบัตรงานออกแบบเลย แนวคิดที่เคยมีมาของกรมทรัพย์สินทางปัญญา คือต้องไปตรวจว่าจะไม่มีคนร้องเรียนก่อน จึงจะจดให้ ซึ่งวิธีนี้ตรงข้ามกับในต่างประเทศเช่นเยอรมัน ในหลายๆประเทศกระบวนการจดสิทธิบัตรด้านการออกแบบนั้นง่ายพอๆกับซื้อกาแฟ จดทันทีได้สิทธิบัตรทันที จดก่อนได้ก่อน ใครจดไปแล้วมีปัญหา ค่อยมาร้องเรียนเพิกถอนกัน ในระบบข้าราชการไทยยังกลัวเรื่องร้องเรียนมาก กลัวคดีจะรกศาล กลัวจะมีความผิดถ้าจดไปแล้วมีการร้องเรียน ด้วยสาเหตุของระบบราชการแบบนี้ที่ทำให้วงการออกแบบของไทยล้าหลังไปมากในทางธุรกิจ การปฏิรูปการจดสิทธิบัตรด้านการออกแบบ จึงเป็นเรื่องแรกๆที่ผมนึกถึงเมื่อได้รับมอบหมายให้เป็นคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟพาวเวอร์แห่งชาติ และด้วยความเห็นชอบของคณะอนุกรรมการด้านการออกแบบ เราจึงเดินหน้าเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง จนเริ่มมีความคืบหน้า

การประสานงานกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เดินหน้าไปด้วยดีครับ และทางเลขานุการอนุกรรมการฯแจ้งให้ทราบว่า ท่านอธิบดีฯพร้อมรับนัดหมายในเร็ววันนี้ มีความคืบหน้าอย่างไร จะนำมาแจ้งเพื่อนๆนักออกแบบกันต่อไปนะครับ

Submit a comment