ผมคิดว่าแนวคิดที่พยายามจะจัดตั้ง ‘กระทรวงเศรษฐกิจสร้างสรรค์’ เป็นแนวคิดที่ไม่สร้างสรรค์ นึกถึงหน้าคนที่คิดนโยบายแล้ว น่าจะประมาณข้าราชการเกษียณ ที่อยากเห็นตัวเองเป็นรัฐมนตรีว่าการ
ถ้าจะเปรียบเทียบเศรษฐกิจเป็นอาหาร ประเทศไทยเราก็มีอาหารหลายประเภท ก๋วยเตี๋ยว ข้าวราดแกง สเต็กเนื้อ สปาเกตตี้ ใครถนัดทำอะไรขาย ก็ขายกันไป
การสร้างสรรค์ ก็น่าจะเป็นประมาณมีพวงเครื่องปรุง มีพริกป่น น้ำปลา น้ำตาล พริกไทย เกลือ แล้วเป็นการเอาเครื่องปรุงลงไปปรุงก๋วยเตี๋ยวนั้น ถามว่ากินก๋วยเตี๋ยวไม่ปรุงเลยกินได้มั้ย ก็กินได้แน่ แต่พอปรุงนิดหน่อย มันก็อร่อยขึ้น ถ้าเราผลิตโดยการลอกคนก๋วยเตี๋ยวร้านอร่อย ทำสูตรมาเหมือนกันเป๊ะ ไม่ต้องปรุงก็ทานได้ แต่มันก็จะซ้ำๆกัน กินไปซักพักก็เบื่อ ถ้าได้พวงเครื่องปรุงมาปรุงเพิ่ม ชามนี้ก็อาจจะไม่เหมือนชามที่แล้ว ก๋วยเตี๋ยวเส้นเล็กแห้งชามเดียวแบบเดียวกันทุกวัน วันนึงกินไม่ปรุง อีกวันปรุงต้มยำ แบบนี้มันก็อยู่ได้หลายวันหน่อย ไม่เบื่อ สร้างสรรค์ก๋วยเตี๋ยวแบบเดิมให้เป็นแบบใหม่ได้ ไม่ซ้ำกัน ขายก๋วยเตี๋ยวแบบเดิมได้แบบแปลกใหม่ทุกวัน ก็จะช่วยให้ขายได้มากขึ้น เกิดการหมุนเวียนเป็นเศรษฐกิจ
แต่ประเด็นคือ มันต้องไม่เอาเครื่องปรุง มาทำเป็นอาหารเสียเองนะครับ เพราะไม่ว่าเครื่องปรุงจะทำให้ก๋วยเตี๋ยวอร่อยขึ้นได้อย่างมหัศจรรย์แค่ไหน การกินเครื่องปรุงเปล่าๆ มันไม่ใช่เรื่องที่กินได้
ความหมายของเศรษฐกิจสร้างสรรค์นั้น มีการรวมกันของเศรษฐกิจและการสร้างสรรค์ อยู่ในความหมายนั้น ทั้งเศรษฐกิจและการสร้างสรรค์ ไม่ใช่สิ่งที่รัฐควรทำหรือเข้าไปกำกับดูแลโดยโครงสร้างบริหารแบบราชการ ไม่เข้าไปควบคุมหรือกำหนดมาตรฐานของการสร้างสรรค์ หรือจัดการทั้งเศรษฐกิจและการสร้างสรรค์ของเอกชนในวิธีการใดทั้งปวง เพราะถ้าทำแบบนั้นแล้ว มันก็จะไม่สร้างสรรค์เท่าไหร่ ดังนั้นในการสร้างนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้มันสร้างสรรค์ ก็ต้องสร้างนโยบายแบบไม่มีนโยบาย คือไม่พูดถึงมัน แต่มีมัน งงมั้ยครับ
ซอฟท์พาวเวอร์ สำหรับผมแล้ว เป็นอาหารจานหนึ่งในบรรดาอาหารที่เรามีอยู่แล้ว แต่เป็นอาหารจานที่เราเลือกขึ้นมาปรุงใหม่ โดยแน่นอน อาจจะปรุงใหม่จากเครื่องปรุงที่เรามีอยู่ แต่ปรุงให้มันอร่อยแบบขายได้ประจำ ไม่ใช่ชามต่อชาม เช่น เปลี่ยนก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลา ให้กลายเป็นก๋วยเตี๋ยวต้มยำ ที่สั่งกินซ้ำได้อร่อยขึ้น อาจจะมีสมการการปรุงที่เป็นมาตรฐานขึ้น กำหนดคุณภาพของพริกป่นน้ำปลาน้ำตาลขึ้นมาใหม่ให้ปรุงแล้วอร่อย หรืออาจจจะปรุงเป็นแบบอื่น ที่ทำให้ก๋วยเตี๋ยวจานเดิมอร่อยขึ้นได้อีก มันเป็นการมองมาจากคนละที่กันของการสร้างสรรค์ และก็เหมาะกับวิธีคิด และสถานการณ์ที่ต่างกัน มันมีเครื่องปรุงพริกป่นน้ำตาลอยู่ในก๋วยเตี๋ยวต้มยำครับ แต่เราต้องขายซอฟท์พาวเวอร์ที่เป็นก๋วยเตี๋ยว ไม่ใช่ขายเครื่องปรุง หรือวิธีการปรุง
แนวคิดที่ได้ ย่อมแสดงให้เห็นศักยภาพที่มี
การมองเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เป็นเรื่องที่ดูเหมือนจะง่าย ไม่เข้าใจอะไรก็ตั้งเป็นกระทรวงเอาไว้ก่อน แล้วค่อยไปหาวิธีทำให้มันใช้การได้เอาทีหลัง เริ่มต้นคิดแบบนี้ ก็ไม่ได้มีประชาชนเป็นศูนย์กลางของความคิดเสียแล้ว เหมือนจะตั้งกระทรวงมาเพื่อจะหาวิธีปรุงก๋วยเตี๋ยว หรือแม้แต่จะพยายามขายก๋วยเตี๋ยวเสียเอง คิดแบบนั้นก็ไม่ต่างกับเผด็จการที่คิดว่าตัวเองรู้ดีกว่าประชาชน ต้องคอยตั้งศูนย์กลางขององค์ความรู้เพื่อมากำหนดว่าแบบไหนถึงจะเรียกว่าสร้างสรรค์ คิดแบบนี้ มันก็อาจจะล้าสมัยไป
ถ้าให้ผมแนะนำ ในการสนับสนุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ การตั้ง ‘กระทรวงการรับฟังแห่งชาติ’ อาจจะเป็นกระทรวงที่เหมาะกว่าสำหรับหน่วยงานรัฐ ให้ฟังประชาชนสอนรัฐ ว่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์มันต้องทำยังไง หรือประมาณ ‘กระทรวงแห่งความว่างเปล่า’ ที่คอยสร้างพื้นที่พร้อมจะอนุญาตให้ประชาชนได้สร้างสรรค์เศรษฐกิจ ฟังแบบนี้ เรามันอาจจะค่อยสร้างสรรค์หน่อย
กระทรวงวัฒนธรรม ก็ควรเป็นกระทรวงวัฒนธรรมต่อไป เพราะประเทศก็ยังต้องมีการสนับสนุนในการสร้างวัฒนธรรม ในฐานะการแสดงออกซึ่งตัวตน (Self Expression) ของประชาชน และนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างธุรกิจใหม่ๆ การไปเปลี่ยนกระทรวงวัฒนธรรมให้กลายเป็นกระทรวงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ก็วุ่นวายเกินไป และไม่ได้ประโยชน์อันใด
ก็ถือว่าแลกเปลี่ยนกันตามระบอบประชาธิปไตยนะครับ ด่ากลับได้ แต่โต้เถียงกันด้วยเหตุผลครับ