ผมเองไม่ค่อยเข้าใจเรื่องกิจกรรม Hackatron ซักเท่าไหร่นะฮะ
ตัวผมเองเคยถูกเชิญไปเป็น mentor ของกิจกรรมประเภทนี้หลายครั้ง เท่าที่ผมเข้าใจคือเป็นกิจกรรมที่เอาคนมาอยู่ด้วยกันเป็นกลุ่มๆ กินนอนด้วยกันโดยใช้เวลา 1-2 วัน เพื่อพยายามหาคำตอบในทางสร้างสรรค์ สำหรับโจทย์ใดๆเป็นเรื่องเฉพาะ
ผมคิดว่าในตอนเริ่มต้น กิจกรรมประเภทนี้ น่าจะจัดขึ้นเพื่อระดมความคิด เพื่อหาทางออกเชิงสร้างสรรค์ (creative solution) สำหรับเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่มีกรอบของการแก้ปัญหาที่เฉพาะมากๆ ซึ่งวิธีการระดมสมอง (brain storm) แบบลุยกันข้ามวันข้ามคืน อาจจะช่วยทำให้มองเห็นความเป็นไปได้ของการแก้ปัญหาที่เฉพาะนั้นได้ เพราะบริบทของความเป็นไปได้นั้นไม่ใหญ่เกินไป การพูดคุยในกลุ่ม 8-10 คน ก็อาจสามารถกำหนดบริบทของความเป็นไปได้นั้นขึ้นมาใหม่โดยไม่ยากนั้น และสามารถมองเห็นความเป็นไปได้นั้นก่อตัวขึ้น (emerge) ท่ามกลางบริบทเหล่านั้นได้
แต่กระบวนการนี้ ไม่สามารถใช้ในการหาคำตอบเชิงสร้างสรรค์สำหรับคำถามที่ใหญ่เกินไปได้ ผมคิดว่า Hackatron ไม่ได้เป็นกระบวนการที่ใช้การได้ในการหา creative solution สำหรับคำถามเชิงสร้างสรรค์ในบริบทที่ใหญ่มากนัก เพราะสำหรับคำถามที่ ‘ใหญ่’ มาก ก็จำเป็นต้องกำหนดบริบทของความเป็นไปได้ที่ใหญ่ขึ้น นั่นก็แปลว่าต้องโอบกอดบริบทที่ใหญ่ขึ้นในการแก้ปัญหา ถ้าจะเอาคน 8-10 คนมาขังไว้ในห้องเพื่อคิดแก้ปัญหา อาจจะไม่พอ จะทำได้อาจต้องใช้คนจำนวนมากขึ้น แต่นั่นก็จะทำให้การแลกเปลี่ยนบทสนทนาทำได้ยากขึ้น และแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยในทางปฏิบัติ
ในบริษัทของผม เรามีการ ‘ช่วยกันคิด’ ในเชิงสร้างสรรค์อยู่เป็นประจำ ส่วนใหญ่ใช้เวลาในการตีโจทย์ที่ซับซ้อนไม่เกิน 1-2 ชั่วโมง (แก้ปัญหากันข้ามคืนเป็นการเสียเวลาธุรกิจแบบที่ทำไม่ได้เลยในชีวิตจริง) ไม่ว่าจะเป็นการใช้ Pattern Book Catalogue Methodology หรือ Alignment Process ต่างก็ทำให้เราได้ความคิดใหม่ๆ ได้การสร้างสรรค์ที่มีประสิทธิภาพ จับต้องเป็นกายภาพได้ และล้วนใช้เวลาไม่นานนัก ซึ่งใช้การได้ในชีวิตจริง ก็เลยสงสัยว่าคนที่คิดกระบวนการทำปฏิบัติการแบบ Hackatron นี้ เข้าใจจริงๆหรือเปล่าว่าความคิดใหม่ๆ หรือการสร้างสรรค์ต่างๆนั้น เอาจริงๆแล้ว มันเกิดขึ้นได้อย่างไร
ถ้าเราไม่เข้าใจ เราก็อธิบายมันไม่ได้ ก็อาจจะสร้างมันได้ แต่ก็ต้องอาศัยโชคช่วยอย่างมากเท่านั้น
การสร้างสรรค์ ไม่ได้ทำงานอยู่บนโชคชะตา เป็นกระบวนวิธีที่ง่ายแต่มีความย้อนแยง (paradoxical) ในกระบวนวิธีนั้น เช่น ‘เพื่อจะคิดให้ออก ต้องอย่าคิด’ เป็นต้น การสร้างสรรค์เกิดขึ้นในฐานะความเป็นไปได้ในบริบทที่เราอาศัยอยู่ (Creativity is a possibility within the context) ประโยคนี้คือหัวใจสำคัญของการสร้างสรรค์ทั้งมวล ถ้าเข้าใจประโยคนี้อย่างถ่องแท้ ก็จะไม่มีอะไรยากอีกต่อไปในการสร้างสรรค์ เพราะการสร้างสรรค์ที่มหัศจรรย์ ไม่ได้เกิดเพราะว่าพยายามคิด แต่สิ่งเราคิดมันจะ ‘ผุด’ ขึ้นมาท่ามกลางบริบทในเรื่องที่เราจะ ‘สร้าง’ อย่างเรียบง่ายแค่นั้น เป็นความชำนาญ (skill) และคนที่ ‘สร้างสรรค์’ อยู่เป็นประจำจนชำนาญนั้น จะได้เปรียบกว่า คนที่เขียนทุกวันก็จะสร้างงานเขียนได้ง่ายและเร็วกว่าคนที่ไม่เคยเขียน เป็นเรื่องที่แม้จะพยายามอย่างหนักก็อาจคิดไม่ออก พอความเป็นไปได้มันเกิดขึ้น ก็สามารถ ‘สร้าง’ ได้อย่างเรียบง่ายได้ในพริบตา
การพาประเทศไทยให้ไปสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ใช้การได้และไม่ได้เป็นแค่แนวคิด จำเป็นอย่างมากที่ผู้นำ จะต้องเข้าใจอย่างแท้จริงในการได้มาซึ่งการสร้างสรรค์ ถ้าไม่รู้แล้วยังทำ ก็จะวนเวียนเสียเวลาไปกับเรื่องที่หาสาระไม่ได้ ไม่มีประสิทธิภาพ และเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ไม่ทำให้คนไทยท้องอิ่ม แต่ได้แค่ภาพสวยๆไป คิดไปก็เสียดายแทน