“พี่ครับ ทำไมพี่ต้องมาเก็บขยะเองด้วยละครับ”
น้องคนหนึ่งถามตอนดึกๆหลังเลิกงาน #BeerDays
ในหัวก็อยากจะบอกน้องว่า การจัดงาน craft beer ที่ทำให้ brewer รายเล็กๆที่มีความสามารถในทำเบียร์รสชาติแปลกใหม่ ให้มาออกงานพร้อมๆกันแบบนี้ได้ ค่าบูทจะเก็บเขาแพงมากไม่ได้ เพราะเขาจ่ายกันไม่ค่อยไหว
ถ้าจะหันไปเก็บค่าเข้างาน (แบบที่หลายๆงานชอบจัดกัน) ก็จะทำให้คนไม่ค่อยอยากมากัน พอคนมากันน้อย คนขายเบียร์ก็จะขายไม่ค่อยได้ ก็ไปแบบนั้นไม่ได้อีก หรือถ้าคิดจะไปขายกับสปอนเซอร์ ก็สงสัยว่าใครจะมาซื้อ เพราะงาน craft beer ก็เป็นเรื่องของแบรนด์อยู่แล้ว มาแข่งกันกับรายใหญ่ที่เป็นสปอนเซอร์ ก็ดูจะไม่เวิร์คอีก
ดังนั้น การจัดงาน craft beer ให้ปัง คนจัดงานต้องจัดงานให้มีค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด และกำไรแค่พออยู่ได้ ไม่ขาดทุน
ถามว่าใครจัดงานก็อยากได้เงินเยอะ มันต้องเป็นคนที่เสียสติพอควรที่เชื่อในการสร้างเศรษฐกิจให้กับชุมชน และเชื่อว่าถ้าเราทำให้คนรอบตัวเราแข็งแรง เราก็จะแข็งแรงไปด้วย โดยที่ผลประโยชน์ส่วนบุคคลของเราเป็นเรื่องที่สำคัญรองลงไป การทำงานกับ #ประชาชนเบียร์ ก็เป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จ เพราะประชาชนเบียร์สร้าง ‘สังคม’ ของคนทำเบียร์รายเล็กๆไว้อย่างเข้มแข็งมาก การเชื่อมต่อกับ ‘ชุมชน’ ของคนต้มเบียร์ได้อย่างทั่วถึงรวดเร็ว เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้การจัดงาน Beer Days ที่ #TheJamFactory นั้น ประสบความสำเร็จแบบถล่มทลายมา 2 ครั้ง 2 ครา แบบไม่ต้องลุ้น
แต่คนจัดงานก็ต้องบริหารจัดการอย่างหนักหน่วงเพื่อลดค่าใช้จ่ายทุกอย่างให้น้อยที่สุด เหลือเท่าที่จำเป็นจริงๆ จนไม่มีช่องว่างให้ความผิดพลาด ถ้ามีเรื่องที่ไม่เป็นไปตามการคาดหวัง ตัวเจ้าของงานอย่างเราเองก็ต้องเข้าไปแทรกแซงเพื่อแก้ปัญหา อย่างเช่นการเข้าไปเร่งเก็บขยะเองเพราะคนที่จ้างไว้ทำงานไม่ทันหรือหนีกลับ ไม่ได้ทำไปเพราะมี agenda อะไร แต่เป็นเพราะทำงานแบบงบประมาณจำกัดถึงขีดสุดแค่นั้นเลย
การทำให้ชุมชนเข้มแข็ง ก็เป็นผลให้ร้านส้มตำที่ขายอยู่หน้าโครงการเดินเข้ามาขอบคุณถึงในงาน เพราะเขาขายอาหารไม่ได้มากนักมาตั้งแต่โควิด วันนี้เห็นเราจัดงานเลยตัดสินใจเอาอาหารมาวางขายริมถนน ผลจากการที่คนมางานวันเดียวเกือบ 2,000 คน ทำให้ขายของหน้าร้านได้จนหมดเกลี้ยง เราก็พลอยดีใจไปกับเขาด้วย
คิดอยู่นานว่าจะอธิบายน้องที่ถามคำถามนั้นยังไงดี อธิบายไปหมดสิ้นตามที่เขียนมาก็คงจะทำให้บทสนทนายืดยาว ตอนนั้นก็เกือบเที่ยงคืนแล้ว แสนจะงัวเงียเต็มทน เลยตอบออกไปอย่างเรียบง่าย
“อ๋อ พี่เก็บไปขายน่ะครับ น้อง”