การเริ่มต้นติดเครื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ต้องเริ่มต้นจากหน่วยของธุรกิจที่เล็กที่สุด นั่นคือ Micro Enterprise และสนับสนุนให้เกิดการเจริญเติบโตในทางโครงสร้าง (structural growth) โดยการกระจายตัวแบบหว่าน (dissemination) ผ่านการถ่ายทอดองค์ความรู้แบบเงียบ (Silent Knowledge) ทางด้านวัฒนธรรม เท่านั้น การกำเนิดของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จึงจะเป็นไปได้
โครงสร้างที่สำคัญที่สุด คือหน่วยธุรกิจแบบ Micro Enterprise ถ้าเรามองครอบครัว ให้เป็นหน่วยธุรกิจที่เล็กที่สุด โครงสร้างของ Micro Enterprise ก็จะซ้อนทับอยู่กับโครงสร้างทางสังคมอย่างแยกออกจากกันไม่ได้ ในสังคมเมือง เราอาจจะเห็น Micro Enterprise นี้เต็มไปหมดในรูปของ แผงลอย หาบเร่ ร้านค้าเล็ก อาชีพรับจ้างแบบ freelance ในต่างจังหวัด เราอาจจะเห็นธุรกิจของครอบครัว ชุมชน เกษตรกรที่ทำเกษตรชุมชน เป็นหน่วยธุรกิจที่เล็กกว่าธุรกิจขนาดเล็กและกลาง (SME) มีขนาด 5-10 คน และไม่มีขีดความสามารถที่จะเข้าถึงแหล่งทุนใดๆ แต่มีศักยภาพสูงสุดในการรับความเสี่ยงจากการทดลองในทางสร้างสรรค์ได้ เนื่องจากมีขนาดเล็ก หากล้มหรือผิดพลาด ก็จะสามารถเริ่มต้นได้ใหม่โดยรวดเร็ว ซึ่งนี้คือลักษณะของ ‘พื้นที่ (space)’ ที่สำคัญที่สุด ของเศรษฐกิจสร้างสรรค์
เราจะเรียกโครงสร้างของหน่วยธุรกิจแบบ Micro Enterprise นี้ว่า ‘ธุรกิจจิ๋ว’
สิ่งเดียวที่จะทำให้เกิดการสร้างสรรค์ได้ คือการสร้าง’พื้นที่’ ในเกิดการสร้างสรรค์ มันเรียบง่ายแค่นั้นเอง จินตนาการว่าเรายื่นกระดาษเปล่ากับดินสอที่เขียนดีให้กับเด็ก เขาก็จะเริ่ม ‘วาด’ บางสิ่งบางอย่างลงไปบนพื้นที่ว่างบนกระดาษนั้นเอง เมื่อเขาวาดผิด เขาก็จะลบ และวาดใหม่ การสร้าง ‘พิ้นที่’ จึงเป็นกลไกลสำคัญเดียวที่จะก่อกำเนิดให้เกิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่เมืองและรัฐต้องเป็นผู้สนับสนุน โดยที่เมืองและรัฐ ต้องไม่เป็นผู้ที่พยายามจะเขียนรูปเหล่านั้นแข่งด้วยเสียเอง
ธุรกิจจิ๋ว เป็นพื้นที่ในการสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์แล้วก็จะพบว่ามีความสอดคล้องกัน ธุรกิจที่เล็กระดับ micro นี้ ก่อกำเนิดง่าย แตกดับได้ง่าย มีลักษณะการประสบความสำเร็จแบบ Temporary Monopoly ซึ่งเหมาะกับธุรกิจสร้างสรรค์ซึ่งต้องมีความเสี่ยง ลองผิดลองถูก ล้มได้ ลุกง่าย สิ่งเดียวที่ธุรกิจจิ๋วไม่มีคือการเข้าถึงแหล่งทุน และถ้าเราสามารถทำให้ธุรกิจจิ๋วเข้าถึงแหล่งทุนได้ ธุรกิจจิ๋วเหล่านั้นก็จะกลายเป็นเมล็ดพันธุ์ที่พร้อมจะโต และการจะปลูกให้เติบโตได้ จะต้องเริ่ม ‘หว่าน (disseminate)’ ให้ธุรกิจนั้นกระจายตัวให้มากที่สุด ลงไปในชุมชน ในเมือง จนกว่าจะไปได้ทั่วประเทศ
การ ‘หว่าน’ นี้ จะเกิดขึ้นได้ก็จากการกระจายตัวของทุนแบบ ‘หว่าน’ ด้วย เช่นการจัดการทุนที่กระจายตัวลงพื้นที่ในลักษณะเดียวกับการจัดการกองทุนหมู่บ้าน เป็นโอกาสดีที่ธุรกิจจิ๋วนี้จะเติบโตได้เร็วที่สุด
เมื่อเมล็ดพันธุ์การสร้างสรรค์เริ่มหยั่งรากลงไปในดิน เริ่มมีการสร้างสรรค์ของธุรกิจจิ๋วบางอย่างที่พิสูจน์แล้วว่าใช้การได้ การถ่ายทอดธุรกิจนั้นให้เติบโต แตกกิ่งก้านสาขา ได้เร็วที่สุด นั้นคือศักยภาพของชุมชน ในการถ่ายทอดองค์ความรู้แบบเงียบ หรือ Silent Knowledge ให้ได้ การถ่ายทอดองค์ความรู้เงียบนี้ ไม่ได้เกิดจากการถ่ายทอดด้วยตัวหนังสือหรือรูปภาพ แต่เป็นการถ่ายทอดโดยการเรียนรู้เมื่ออยู่ด้วยกันเป็นชุมชน เช่นเดียวกับการถ่ายทอดทางวัฒนธรรมต่างๆ ศักยภาพของชุมชนจึงมีส่วนสำคัญอย่างมากในการถ่ายทอดองค์ความรู้แบบเงียบนี้ และทำให้ธุรกิจสร้างสรรค์ของธุรกิจจิ๋ว สามารถเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ก่อกำเนิดธุรกิจใหม่ๆได้อย่างมหาศาล และสามารถขับเคลื่อนเป็นเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) ให้กับประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ