ชัชชาติถามผมว่า เขาทำในสิ่งที่ทำไปตามความรู้สึก มันถูกต้องแล้วใช่มั้ย
ผมตอบไปว่ามันถูกที่สุดแล้ว
คำว่า ‘ความรู้สึก’ ที่ชัชชาติหมายถึง น่าจะตรงกับคำว่า Intuition หรือแปลเป็นไทยแบบอลังการต้องใช้คำว่า ‘ญานสำนึก’
หลายคนมักจะลังเลที่จะใช้ intuition ในการแก้ปัญหาหรือตอบสนองกับสถานการณ์ต่างๆรอบตัว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราไม่สามารถอธิบาย intuition ได้ว่ามันเกิดขึ้นมาจากอะไร ถ้าไม่ได้ศึกษากันให้ลึกซึ้ง
เราอยู่ในโลกของวิทยาศาสตร์แบบ Newtonian ที่เชื่อว่าทุก ‘ผล’ ต้องมาจาก ‘เหตุ’ ใดเพียงหนึ่ง เป็นโลกของตรรกกะที่ใช้เหตุและผล (rationale) ในการอธิบายปรากฏการณ์และสถานการณ์ต่างๆ รวมทั้งการตัดสินใจต่างๆ เมื่อมี ‘เหตุ’ ให้เราประมวลผลมากกว่าหนึ่ง เราจึงมักจะใช้การประมวลผลหลายๆครั้งเพื่อจะได้คำตอบของ ‘ผล’ ที่ตอบสนองกับ ‘เหตุ’ ให้มากที่สุดในจำนวน ‘เหตุ’ ที่มากมายนั้น เราเรียกการประมวลผลแบบนี้ว่า linear calculations หรือการประมวลผลแบบเชิงเส้น และแน่นอนว่าถ้า ‘เหตุ’ ยิ่งเยอะ ความสามารถในการประมวลผลหลายๆ ‘รอบ’ จึงมีความจำเป็นอย่างมากสำหรับการประมวลผลที่ซับซ้อน
การทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ล้วนทำงานด้วยการประมวลผลแบบ linear นี้ทั้งสิ้น ความเร็วของรอบการประมวล (clock speed) จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การประมวลผลของสมองกลเหล่านั้นประมวลผลในระดับความซับซ้อนที่สูงได้
เราอาจจะจำลอง หรือ สอนให้มนุษย์ประมวลผลแบบ linear calculation โดยตัดสินใจโดยใช้เหตุและผลสำหรับทุกการตัดสินใจก็ได้ มันอาจจะทำให้เรามั่นใจว่าเรากำลังตัดสินใจลงมือทำด้วย ‘เหตุและผล’
แต่มันก็แปลว่าเรากำลังใช้ศักยภาพของสมองมนุษย์ไม่ได้ดีกว่าคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งเท่านั้น
สมองมนุษย์ แท้จริงแล้ว ถูกสร้างมาเพื่อให้ประมวลผลแบบขนาน (pallarel calculation) โดยธรรมชาติโดยที่เราสามารถประมวลผลมากกว่าหลายพันอย่างพร้อมๆกันในเสี้ยววินาที และมีศักยภาพมากกว่าเครื่องประมวลผลใดๆในโลก
ตัวอย่างที่เห็นง่ายที่สุดคือ พวกเราทุกคนเมื่อเห็นว่าผู้หญิง ‘สวย’ เดินมา เราสามารถบอกได้ว่าผู้หญิงคนนี้ ‘สวย’ (แม้ว่าแต่ละคนจะเห็นว่าสวยหรือไม่ต่างกันก็ตาม) การที่เราบอกว่าผู้หญิง ‘สวย’ นั้น เกิดจากการประมวลผลนับพันอย่างในวินาทีนั้น ไม่ว่าจะเป็นการเทียบรูปแบบปาก หู จมูก ตา ผม รูปร่าง เข้ากับประสบการณ์ในอดีต ค่านิยมในสังคมและวัฒนธรรม ฯลฯ ทั้งหมดนี้เป็นการประมวลผลแบบ ‘ขนาน’ พร้อมกันหลายพันอย่างในรอบของการประมวลผลเพียงครั้งเดียว แม้ว่ามันดูเหมือนจะเป็น ‘ผล’ ที่ปราศจาก ‘เหตุ’ แต่ที่จริงแล้วเป็นการประมวลผลจาก ‘เหตุ’ นับพันในเสี้ยววินาที นี่เป็นคุณสมบัติที่มหัศจรรย์ของสมองมนุษย์ที่ยังหาสมองกลใดๆ มาเทียบได้ยาก
การประมวลผลแบบขนานนี้เอง ที่ทำให้เกิดการตัดสินใจแบบ intuitive หรือที่เราเรียกว่า intuition ‘ญานสำนึก’ หรือ ‘ความรู้สึก’ ที่ชัชชาติถามมานั่นเอง
การใช้ชีวิตเป็นสถาปนิก ผมต้องใช้การตัดสินใจแบบ intuitive นี้เป็นร้อยๆครั้งในแต่ละวัน จึงคุ้นเคยกับระบบการตัดสินใจด้วย intuition นี้เป็นเรื่องปรกติ แต่สำหรับคนที่ประสบการณ์น้อย หรือถูกฝึกมาบนพื้นฐานของความคิดแบบ rationale หรือ linear calculation มาอย่างเข้มงวด ก็อาจจะไม่เข้าใจวิธีที่จะใช้ศักยภาพของสมองอย่างเต็มที่โดยใช้ intuition ด้วยซ้ำ การใช้ intuition นั้น จริงๆแล้วง่าย เพราะไม่ต้องผ่านกระบวนการคิดด้วยซ้ำ สามารถแก้ปัญหาได้เร็ว และตอบสนองกับสถานการณ์ที่ซับซ้อนได้เร็ว แต่ก็จำเป็นที่สมองต้องได้รับการฝึกฝนให้ประมวลผลแบบขนานมามากพอเพื่อจะใช้ได้อย่างคล่องแคล่ว ซึ่งส่วนใหญ่การฝึกฝนเหล่านี้ สามารถสร้างขึ้นได้ง่ายจากการฝึกทักษะทางด้านศิลปะต่างๆ ทุกด้านที่ตรงข้ามกับวิธีคิดแบบเป็นเหตุผลใน linear thinking ของวิทยาศาสตร์
วันหนึ่งข้างหน้า การประมวลผลแบบ quantum ของ quantum computation ก็อาจจะทำให้สมองกลเครื่องหนึ่งเข้าใกล้สมองมนุษย์มากขึ้นสำหรับการประมวลผมแบบ pallarel แต่ผมก็เชื่อว่าอีกนานกว่าจะมาได้ใกล้เคียง ระหว่างรอ เรามาฝึกให้มนุษย์เรากันเอง ผู้คนของเรา มาใช้ศักยภาพของสมองให้เต็มที่ในแบบที่มันถูกสร้างมาอาจจะง่ายกว่า
เผื่อเราจะมีชัชชาติเพิ่มขึ้นกันได้อีกซัก 200-300 คน