บทสนทนาในการสิ่งที่ ‘ถูก’ และ ‘ผิด’ รวมทั้งการสร้างความ ‘กลัว’ เป็น บทสนทนาพื้นฐานที่ถูกสร้างในสังคม ในการให้ความชอบธรรมให้กับอำนาจเผด็จการในการเข้าปกครองชุมชนใดชุมชนหนึ่ง
ในการขับเคลื่อนสังคมภายใต้การปกครองแบบเผด็จการ จะมีบทสนทนาว่าสิ่งใดหรือความเชื่อใด ‘ถูก’ หรือ ‘ผิด’ อย่างชัดเจน ไม่มีความเชื่อที่เป็น quantum ในลักษณะที่สิ่งหนึ่งเป็นสองสิ่ง หรือ ถูกและผิด ได้พร้อมๆกัน
ซึ่งนั่นเป็นสาเหตุที่จะนำไปสู่ความขัดแย้ง ความล่มสลาย ของการปกครองแบบเผด็จการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะบทสนทนาที่อธิบายสังคมในวิธีที่มี ‘ถูกและผิด’ ที่ชัดเจนนั้น ไม่สอดคล้องกับธรรมชาติที่เกิดขึ้นจริงในสังคม ในขณะที่วิธีคิดในแบบประชาธิปไตยนั้น จะมองเห็นสังคมที่เป็น quantum ในวิธีที่ทุกสิ่งนั้นถูกและผิดได้พร้อมๆกัน หรือทุกสิ่งนั้นถูกหมด แต่ฉัน ‘เลือก’ ที่จะเชื่อแบบนี้ หรือทำแบบนี้
พลังในการที่สามารถ ‘เลือก’ ได้นั้น เป็นวิธีที่กำหนดให้ความรับผิดชอบในสังคมกลับมาอยู่ที่ผู้ที่ ‘เลือก’ นั้น การ ‘เลือก’ หรือ choose จึงเป็นหัวใจหลักของสังคม ที่จะทำให้ระบบสังคมมีเสถียรภาพ และดำรงอยู่ได้ท่ามกลางความหลากหลายที่เป็นอนันต์ และนั่นเป็นสาเหตุว่าทำไมสังคมที่มีการสร้างรากฐานของการปกครองมาจากการอนุญาตให้ประชาชนในชุมชนนั้นๆได้มีพลังในการเลือก เช่น การสร้างรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจกับประขาชนในการเลือกนั้น จึงทำให้สังคมนั้นๆ มีการคงอยู่ที่มั่นคง และเมื่อสังคมมั่นคง เศรษฐกิจก็จะแข็งแกร่งและยั่งยืน
ความกลัว ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่การปกครองในระบอบเผด็จการต้องมีไว้ใช้ เพื่อควบคุมชุมชนให้อยู่ในอำนาจปกครอง ความกลัวที่จะสูญเสียอิสระภาพ ความกลัวที่จะตาย เป็นบททสนทนาที่แพร่หลายในสังคมที่ปกครองในวิธีคิดของเผด็จการ ถ้าเราคุ้นเคยกับความกลัวในสังคมในบทสนทนาที่เรามีอยู่ทุกๆวันแล้วล่ะก็ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเราถูกกำหนดการปกครองภายใต้วิธีคิดแบบใด
ในความกลัวของโรคระบาดที่เรากำลังเผชิญอยู่ เป็นโอกาสอันดีที่ความกลัวถูกใช้อย่างมีเหตุผลเป็นรูปธรรม เพื่อควบคุมเราเอาไว้ในการปกครองแบบเผด็จการ เราถูกทำให้เชื่อว่าการระบาดของโรคนั้นเป็นการระบาดแบบ linear คือ ถ้ามีคนจากต่างประเทศเข้ามา = การระบาดจะเพิ่มมากขึ้น โดยไม่มีการสร้างแบบจำลองของสมมติฐานแบบ non-linear ที่พูดถึงภาวะภูมิต้านทานของโรคเลย
ทุกครั้งที่มีการรายงานผู้ติดเชื้อในประเทศ จะไม่เคยมีการรายงานจำนวนผู้มีภูมิต้านทานของโรคในประเทศเลย อาจจะด้วยว่าเราจะรายงานจำนวนผู้ติดเขื้อเมื่อปรากฏผู้ติดเชื้อขึ้น แต่ไม่มีการสุ่มตรวจประชากรที่ไม่มีการแสดงอาการของโรคที่มากพอ ในขณะที่มีผู้ป่วยจากโรคระบาดเพิ่มขึ้น ก็จะมีผู้ที่สร้างภูมิคุ้มกันของโรคเพิ่มขึ้นในเวลาเดียวกันและไม่ได้แปลว่าจำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นแบบเส้นตรงตลอดไป แต่จะเพิ่มขึ้นเป็นกราฟระฆังคว่ำและลดน้อยลงไปในที่สุด นี่คือหุ่นจำลองความคิดแบบ non-linear ที่อาจสะท้อนให้เห็นวิธีแก้ปัญหาที่แตกต่างออกไปและสอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น แต่แน่ล่ะ ไม่มีใครชอบหุ่นจำลองแบบนี้ เพราะแปลว่าทุกคนต้องทำงานหนักขึ้น ยากขึ้น ซึ่งก็เป็นไปได้ยากที่จะเรียกร้องสิ่งนั้นจากสังคมที่ปกครองด้วยวิธีคิดแบบราชการ และการทำให้ความกลัวหมดไปนั้น ก็ไม่สอดคล้องกับวิธีคิดของการปกครองแบบเผด็จการ ซึ่งสุดท้ายกำลังจะพาประเทศไปถึงจุดอับและทางตันทางเศรษฐกิจ
เมื่อใดที่สังคมเราไม่ได้มองเห็นทุกสิ่ง ‘ถูก’ หรือ ‘ผิด’ แบบตายตัว และทุกๆคนสามารถ ‘เลือก’ ที่จะเชื่อในความ ‘ถูกหรือผิด’ นั้นได้อย่างเสรีและมีพลัง เมื่อนั้นแปลว่าสังคมของเราได้เคลื่อนตัวออกจากเงามืดของระบบเผด็จการแล้ว และพร้อมที่จะเดินทางสู่อนาคตที่แท้จริง อย่างจริงจังเสียที