ลองคิดต่อดูว่า ในแบบจำลอง ‘เวลา’ แบบทรงกลมนี้ จะอธิบายปรากฏการณ์อื่นใดในภาพยนตร์ได้อีก
จินตนาการว่าวิธีที่เรารับรู้เวลา เสมือนกับภาพหนึ่งเคลื่อนตัวไปอีกภาพหนึ่งนะครับ แบบเดียวกับ Key frame ในภาพยนตร์ ที่มี 24 ภาพใน 1 วินาที ถ้าเรากำลังมองเห็นชีวิตเราเป็นภาพยนตร์ซักเรื่องหนึ่ง เป็นภาพยนตร์ที่ยาว 80-90 ปี เราก็จะมีฟิล์มหนังที่มี Key frame ประมาณ 2,800 ล้าน ภาพ ที่เป็นชีวิตเราทั้งหมด
ลองเอา Key frame เหล่านั้นมาเรียงเป็นเส้นตรง ก็จะมองเห็นตั้งแต่ภาพที่ 1 เรียงไปถึงภาพที่ 2,800 ล้านนั้น ทั้งหมดวางอยู่แล้วพร้อมๆกัน วิธีที่เรารับรู้ชีวิตของเราที่ผ่านไปในช่วงเวลานั้น คือการที่เรามองเห็น Key frame เหล่านั้นผ่านไปโดยการเคลื่อนตัวของเรา ในวิธีที่มีตัวเราอยู่ใน Key frame เหล่านั้นด้วย และเราก็มองเห็นเหตุการณ์ต่างๆร้อยเรียงกันเป็นภาพเคลื่อนไหวไปในขณะเดียวกัน
นั่นคือทั้งหมดของเวลาสำหรับชีวิตของเรา
แต่ความซับซ้อนไม่ได้จบตรงนั้น ลองจินตนาการว่าเราเรา Key frame เหล่านั้นเรียงลงไปเป็นเส้นตรงบนผิวทรงกลมที่เส้นผ่าศูนย์กลางเล็กใหญ่ได้แบบไม่ตายตัว เมื่อเรียงไปจนครบทั้งหมดแล้ว ลองจินตนาการเห็น Key frame เหล่านั้นเป็นจุดเล็กๆที่กระจายไปบนผิวทรงกลมนั้น แต่ละ frame กลายเป็นเรื่องราวที่เปลี่ยนไปตามทางเลือกที่ถูกกำหนดขึ้นจากวิธีที่เราตัดสินใจทำอะไรบางอย่างไปใน frame ก่อนหน้านี้ แปลว่าอนาคตที่ตายตัวนั้น มีทางเลือกของอนาคตที่ไม่ตายตัว และเกิดขึ้นพร้อมๆกันตลอดเวลาเป็นจำนวนมากเป็นอสงไขย
การรับรู้เวลาของเราก็ไม่จำเป็น ‘เส้นตรง’ แต่สามารถเดินทางจาก frame หนึ่ง ไปยังอีก frame หนึ่งบนผิวลูกบอลนั้นได้อย่างเป็นอิสระ แต่ก็ยังเดินทางไปได้ในทิศทางเดียว เช่น จากตะวันออกไปตะวันตก แต่อาจเป็นเส้นโค้งคดเคี้ยว เส้นซิกแซก อย่างไรก็ได้ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจในแต่ละเสี้ยววินาทีของชีวิตเรา
ใน TENET ผู้สร้างสร้างเงื่อนไขให้การรับรู้ของเวลาของเรา หลุดออกจากกรอบที่บังคับให้เราต้องรับรู้การเคลื่อนตัวนั้นไปในทิศทางเดียว เหมือนกับอนุญาตให้เราสามารถยกนิ้วขึ้น และสามารถไป ‘รับรู้’ และมีปฏิสัมพันธ์กับเวลาที่ไหน ทิศทางใดก็ได้ บนผิวทรงกลมนั้น เหตุการณ์ทั้งหมดยังอยู่บนโครงสร้างของ ‘เวลา’ บนผิวทรงกลมเดียวกัน และเนื่องจากอดีตปัจจุบันอนาคต เกิดขึ้นพร้อมๆกัน เหตุการณ์ทุกอย่างจึงไม่ได้มีความเชื่อมโยงกันแบบ space-time continuum ที่ถูกอธิบายไว้ในภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ (เช่น Back To The Future) แต่เป็นการเชื่อมโยงหรือโครงสร้างของ ‘เวลา’ ในอีกแบบหนึ่ง ที่แตกต่างออกไป
ไม่มีอะไรที่พิสูจน์ได้ว่าโครงสร้างของเวลาแบบทรงกลมนี้ เป็นสิ่งที่ Christopher Nolan คิด และนำเสนอในภาพยนตร์เรื่องนี้นะครับ แต่เป็นการสร้างแบบจำลองของเวลาขึ้นมาใหม่จากความเข้าใจในภาพยนตร์ขึ้นมาเท่านั้น มีสิ่งที่จะพอเชื่อมโยงแนวคิดของอดีตปัจจุบันอนาคตที่อยู่บนระนาบเดียวกันของ Nolan คือฉากท้ายๆในภาพยนตร์เรื่อง Interstellar ของเขา ที่พูดถึงเอกภพที่เป็น multidimensional ที่ทุกๆอย่างถูก collapse เข้าหากัน เกิดขึ้นพร้อมกัน และเชื่อมโยงมีผลซึ่งกันและกัน ที่อาจจะทำให้เราพอเดาได้ ว่าเขาพยายามจะอธิบายเรื่องราวของ ‘เวลา’ ในโครงสร้างแบบไหน ในภาพยนตร์เรื่องนี้เท่านั้นเอง
ดูหนังแล้วก็บริหารสมองกันนิดหน่อยนะครับ อ่านแล้วก็ไม่ได้แปลว่าจะเข้าใจหนังมากขึ้น อาจจะเวียนหัวหนักขึ้นด้วยซ้ำ อย่าพยายามไปเข้าใจมันมากครับ
มันก็เหมือนตัวหนังเองแหละ ก็แค่เพลินๆ
#TENET