ก่อนอื่น ถ้าคุณพยายามจะเข้าใจมัน ในแบบที่คุณเคยเข้าใจหนังเรื่องอื่นที่ว่าด้วยการเดินทางผ่านเวลา (Time Travel) ในแบบที่เราคุ้นเคย คุณจะปวดหัวมาก และดูหนังเรื่องนี้ไม่รู้เรื่องเลย เพราะคิดตามไม่ทัน
คุณต้องคิดเรื่องเวลาแบบ Christopher Nolan คิด
ในหนังเรื่องก่อนหน้านี้บางเรื่องของ Nolan ก็เริ่มเผยให้เห็นความสัมพันธ์ของเขากับ ‘เวลา’ ในวิธีที่แตกต่างไปจากที่เราเข้าใจอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นในตอนจบของ Interstellar หรือ Inception ก็สร้างขึ้นจากความสัมพันธ์ของเขากับแนวคิดเรื่องเวลาที่แตกต่างไปจากวิธีที่หนังเรื่องอื่นเข้าใจ หรือแม้แต่วิธีที่เราเข้าใจมันโดยคิดตามหลักฟิสิกส์แบบพื้นฐานปรกติ
ในภาพยนตร์ในช่วงกลางเรื่อง ตัวเอกของเรื่องเริ่มจะเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นในสถานการณ์ที่ดำเนินอยู่ และเริ่มจัดการกับสถานการณ์ได้ คู่หูเขาก็เฉลยว่า นั่นเป็นเพราะเขาเลิกคิดถึงมัน (เวลา) ในแบบเส้นตรง (linear) นั่นเป็นจุดที่อธิบายวิธีคิดของ Nolan ที่มีต่อความสัมพันธ์ของเวลาในภาพยนตร์เรื่องนี้ทั้งหมด
Nolan ไม่ได้ใช้พื้นฐานความเข้าใจว่า เวลาเป็น ‘เส้นตรง’ สำหรับหนังเรื่องนี้ครับ
วิธีที่จะอธิบายให้เห็นภาพได้ง่ายที่สุด คือให้จินตนาการว่าเราเอานิ้วลากลงไปบนลูกบอลซักลูกหนึ่ง ในวิธีที่เรามีความสัมพันธ์กับเวลา ก็เหมือนเราลากนิ้วไปบนผิวลูกบอลลูกนั้น ถ้าเราลากนิ้วจากซ้ายไปขวา และเรามองเหตุการณ์จากปลายนิ้วของเรา โดยที่ไม่ได้คิดว่านิ้วเรากำลังเคลื่อนที่นั้น เราจะมองเห็นเสมือนว่าลูกบอลกำลังเคลื่อนที่จากขวาไปซ้าย และถ้านั่นเป็นวิธีที่เราเข้าใจเวลา เราก็จะเห็นเวลาเคลื่อนที่ไป ‘ข้างหน้า’ ตลอดเวลา และเห็นการเคลื่อนที่ของเวลานั้นเป็น ‘เส้นตรง’ เสมอ
ในขณะเดียวกัน ถ้าเรามองลูกบอลนี้ในทิศทางตรงกันข้าม เช่นถ้ามองลูกบอลนี้กลับหัว การลากนิ้วของเรานั้น ก็จะกลายเป็นการลากนิ้วจากขวาไปซ้าย และเราก็จะมองเห็นเหตุการณ์จากปลายนิ้วของเราเสมือนว่า ‘เวลา’ นั้นกำลังย้อนหลังไปในทิศทางตรงกันข้าม และทั้งหมดนี้ ไม่ได้เป็นการเดินทาง ‘ย้อนเวลา’ แบบที่เราคุ้นเคยในหนัง time travel ทั่วๆไป แต่ Nolan มองเห็นเวลาที่เดินไปข้างหน้าและย้อนหลังกลับ เป็นความจริงเดียวกัน แต่เรามีความสัมพันธ์กับมันต่างกันจากวิธีที่เรามอง
‘ประตู’ ในภาพยนตร์นั้น เป็นเหมือนจุดที่เราพลิกมุมมองกลับในวิธีที่ตัวละคอนในเรื่องเลือกที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับเวลาในแบบเดินหน้า หรือย้อนกลับ ถ้าจะเปรียบเทียบง่ายๆ ก็เหมือนเราเลือกได้ว่าจะยกนิ้วที่วางอยู่บนลูกบอลนั้นให้เคลื่อนไปทางซ้ายหรือทางขวา และที่เราทำแบบนั้นได้ เพราะมันไม่เคยเป็นลูกบอลเลยที่หมุนไป เป็นนิ้วของเราเองต่างหากที่เคลื่อนไปบนผิวลูกบอลนั้น เพื่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์กับการรับรู้ของ ‘เวลา’
นั่นแปลว่า ‘เวลา’ ในภาพยนตร์เรื่องนี้ของ Nolan นั้น ทุกอย่างเกิดขึ้นแล้วพร้อมๆกัน ทั้งอดีต ปัจจุบัน อนาคต
ตัวละคอนต่างๆแค่เดินทางไปบนเวลา หรือลากนิ้วไปบนลูกบอลในแบบที่แตกต่างกัน เพื่อให้เห็นเวลาเคลื่อนตัวไปแบบ ‘เดินหน้า’ หรือ ‘ถอยหลัง’ แค่นั้น
ผมคิดเอาเองว่า Nolan น่าจะมีแนวคิดของโครงสร้างเวลาในแบบนี้เพื่อเป็น ‘กฎ’ หรือ ‘ฟิสิกส์’ ใหม่สำหรับภาพยนตร์ที่น่าสนใจดี และทำให้เกิด visual ใหม่ๆที่น่าสนใจอย่างมาก แต่ก็ไม่สามารถหาหลักทางวิทยาศาสตร์อะไรมา ‘สร้าง’ เงื่อนไขนี้ให้สมเหตุสมผลทางวิทยาศาสตร์ได้ทัน แต่ก็ดูเหมือนแกไม่ได้สนใจตรงนั้นมากจนเกินไปนัก ก็ด้วยแกตั้งใจจะทำหนังให้สนุกบน ‘ฟิสิกส์’ ใหม่ของหนัง เราไปดูหนังก็อย่าเอานิสัยเสียที่พยายามจะอธิบายเหตุผลทุกอย่างมากจนเกินไป เพราะจะเครียดเปล่า ถ้าจะดูหนังเรื่องนี้ให้สนุก ก็ทำความเข้าใจกับฟิสิกส์ของหนังคร่าวๆพอให้สบายใจ แล้วก็สนุกไปกับมัน
ถ้าคุณรอด 15 นาทีสุดท้ายของ Interstellar มาได้ ก็ไม่น่ายาก แค่รู้สึกเหมือนว่า Nolan ขยาย 15 นาทีแห่งความงงในตอนท้ายของหนังเรื่องนั้นมาเป็น 2 ชั่วโมงครึ่งในหนัง เรื่องนี้แค่นั้นเอง และหลังจากดูเรื่องนี้จบ ผมคิดว่าน่าจะกลับไปดู Inception ได้สนุกขึ้นเยอะเลย เพราะ ‘ฟิสิกส์’ ของ Inception จะแลดูเข้าใจง่ายไปเลยถ้าเทียบกับหนังเรื่องนี้
ขอให้ดูหนังในสนุกครับ
#TENET