วันนี้ไป Book Walk กับมติชนมา เพลิดเพลินไปกับอาจารย์ชาตรีกับอาจารย์ป๊อก ที่มาทำให้วิชาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมยุคก่อกำเนิด Modernism ในประเทศไทยผมจบสมบูรณ์แบบซักที หลังจากค้างคามา 30 ปี เพราะตอนเรียนอาจารย์ก็ไม่ได้สอนกันละเอียดนั้น มักจะข้ามยุคนี้ไปกันอย่างรวดเร็ว ตอนนั้นก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไม
ตั้งใจตั้งแต่แรก ว่าถ้าได้เจอตัวเป็นๆของอาจารย์ชาตรี ว่าจะขอคุยด้วยเรื่องอาคารรัฐสภาปัจจุบันเสียหน่อย เพราะเคยอ่านอาจารย์วิจารณ์แล้วก็โดนใจมาก ตอนทำประกวดแบบอาคารรัฐสภา ก็คิดมาตลอดว่ามันควรจะถูกตีความมาจากความเท่าเทียมกันของผู้คน แต่งานที่ชนะกลับกลายเป็นงานที่ข่มผู้คนสุดๆขนาดนั้น เอาความเชื่อในลำดับชั้นมากดผู้คนเอาไว้ เป็นแนวคิดที่คับแคบมาก แต่ก็คิดเสมอว่าเราคงคิดอยู่คนเดียว เลยไม่พูดอะไรดีกว่า
เกือบ 6 ชั่วโมงที่ฟังอาจารย์บรรยาย เดินดูอาคารที่สร้างในอิทธิพลความคิดของคณะราษฏร ก็ไม่สงสัยเลยว่าการช่วงชิงบทสนทนา ของแนวคิดทางการเมืองสองข้างของประเทศไทยนั้น มีการเชือดเฉือนและเพลี่ยงพล้ำสลับกันมาโดยตลอด และการประกาศพื้นที่ชัยชนะทางการเมืองเหล่านั้น ก็อาศัยอยู่ในศิลปะและสถาปัตยกรรมอยู่ตลอดเวลา ไม่มีเหตุของผลอะไรที่มากไปกว่านั้น ทำให้เข้าใจและปลงได้ในเวลาเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นอาคารศาลฎีกาที่ถูกรื้อไปจนเหลือเพียงเสี้ยวเดียว ซุ้มประตูสวัสดิโสภาของพระบรมมหาราชวัง หรือแม้กระทั่งการสร้างสนามหลวงและถนนราชดำเนิน ซึ่งรายละเอียดต่างๆผมคิดว่าน่าจะมีอยู่ในหนังสือ ศิลป-สถาปัตยกรรม คณะราษฎร ของแกแล้ว ต้องลองไปหาอ่านกันเอง ผมคงไม่ไปเล่าซ้ำ เดี๋ยวไม่ยอมไปซื้อหนังสือแกอ่านกัน
การบรรยายของอาจารย์มาจบลงบริเวณที่ตั้งอาคารศาลาเฉลิมไทยเดิม ซึ่งปัจจุบันเป็นลานอะไรซักอย่างชื่อยาว จำไม่ได้ ผมเองก็เพิ่งจะรู้สึกตัวเองได้ว่า ไม่ได้กลับมาเหยียบบนที่ตรงนี้มาเกือบ 31 ปีแล้ว ตั้งแต่ครั้งหลังสุดที่ยังเรียนจบใหม่ๆ ยังไม่ได้รับปริญญาด้วยซ้ำ ก็มายืนประท้วงตรงนี้เพื่อไม่ให้เขาไม่รื้ออาคารเฉลิมไทยทิ้ง ตอนเด็กเราก็คิดแบบเด็ก คิดว่าเราเรียนประวัติศาสตร์มา การมารื้ออาคารที่สำคัญขนาดนี้ โดยมีเหตุผลบางๆว่าจะเปิดมุมมองให้วัดราชนัดดาฯที่อยู่ด้านหลังนั้น ไม่น่าจะเป็นเหตุผลที่พอเพียง
ตอนนั้นก็สู้กันสุดฤทธิ์ มายืนประท้วงกันแข็งขันนับได้ไม่ถึง 20 คน ไม่มีเฟสบุค ต้องเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์มติชน บรรณาธิการท่านสมัยนั้นก็ลงให้ครึ่งหน้าสาม ตกใจกันทั้งคณะ ความไร้เดียงสาคิดว่าจะเอาหลักการทางความคิดเข้าสู้ ไม่เข้าใจความขัดแย้งระหว่าง 2 ขั้วการปกครองและความพยายามที่จะลบสถาปัตยกรรมแบบคณะราษฎรให้ออกไปจากประวัติศาสตร์ หรือแม้กระทั้งความเข้าใจว่าคณะกรรมการเกาะรัตนโกสินทร์ในสมัยนั้น มีความจำเป็นต้องเปิดมุมมองสู่วัดต้นตระกูลของตัวเองที่มีเชื้อสายเจ้านายนั้น เป็นเรื่องสำคัญมากกว่าความถูกต้องทางประวัติศาสตร์ ความพ่ายแพ้ในการประท้วงในครั้งนั้น แทบจะไม่ได้มีผลไปเขี่ยส้นเท้าของรัฐบาลที่มีอำนาจในสมัยนั้นได้เลย แล้วอาคารเฉลิมไทย ก็กลายเป็นแค่ความทรงจำไปในปัจจุบัน
ศิลปะ และสถาปัตยกรรม เป็นสิ่งที่ไม่ได้คงอยู่ไปชั่วกาล การช่วงชิงอำนาจ การเมือง และการคอรัปชั่น เป็นบ่อเกิดของสถาปัตยกรรมในประเทศเรามาทุกยุคสมัย นี่เป็นความรู้ที่ได้มาวันนี้ อาคารที่ประกวดแบบชนะอย่างอาคารรัฐสภา ก็อาจไม่ใช่ได้มาเพราะเป็นแบบที่ดีที่สุดในทางสถาปัตยกรรม แต่เป็นแบบที่ ‘การเมือง’ เหมาะสมกับ ‘ความเชื่อ’ มากที่สุดในช่วงเวลานั้น สถาปนิกที่อยากประสบความสำเร็จ จึงอาจไม่จำเป็นต้องมีความรู้ความสามารถทางการออกแบบกันขนาดนั้น ในบริบทของประเทศไทย จงอยู่ในสมดุลย์ของการเมืองที่ได้เปรียบ น่าจะมีโอกาสของอาชีพมากกว่า
คนที่รักสถาปัตยกรรมแบบหมดหัวใจ ควรจะหาที่อยู่เงียบๆ ทำสิ่งเล็กๆที่พอให้มีชีวิตอยู่ได้ น่าจะมีชีวิตของอาชีพที่ดี และไม่ต้องทรยศตัวเอง ถ้าสังคมของวิชาชีพเรายังอยู่ในบริบทที่ต้องถูกกดทางสังคมและการเมืองแบบนี้ต่อไป อนาคตของอาชีพนี้ ก็กำลังเดินทางไปสู่จุดดับสูญอย่างน่าเศร้าเช่นเดียวกับการปกครองในระบอบที่เรียกว่า เป็นประชาธิปไตย