ภาวะรวยกระจุก จนกระจายนี่ มันรุนแรงกว่าที่เราคิด
เมื่อวานก่อนผมได้พบกับอาจารย์ณรงค์ชัย อัครเศรณี ผมก็ได้นั่งลงพร้อมกับพร่ำบ่นเรื่องเศรษฐกิจที่ย่ำแย่โงหัวไม่ขึ้นสำหรับรากหญ้าอย่างผม ผมบ่นกับท่านว่า ดูตัวเลขการนำเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามามันก็ต่ำลงทุกวัน เงินในระบบดูเหมือนจะไม่ค่อยมี การส่งออกและการท่องเที่ยวก็น้อยลงเพราะค่าเงินบาทแข็งจนหน้าตกใจ แลดูสวนทางกับภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่คนทั่วไปรู้สึกกัน และชวนให้สงสัยว่าเราใช้กลไกอะไรของภาครัฐที่ดึงดันทำให้ค่าเงินแข็งขนาดนี้หรือเปล่า และมีทางใดที่จะทำให้ค่าเงินบาทมันอ่อนตัวลงมาบ้างได้มั้ย เพื่อที่จะทำให้มีเงินเข้ามาในระบบมากขึ้น และผ่อนคลายความตึงเครียดทางเศรษฐกิจในประเทศนี้ลงไปบ้าง
อาจารย์ณรงค์ชัยก็อธิบายว่า สาเหตุที่ค่าเงินบาทแข็งนั้น เป็นกลไกธรรมชาติทางเศรษฐศาสตร์ และมาจากสาเหตุเดียวก็คือ เรามีเงินกองอยู่ในประเทศเยอะมาก ทั้งในภาครัฐ ธนาคารและกลุ่มทุน นั่นเป็นกลไกทำให้ค่าเงินบาทแข็งแบบแก้ไม่ได้ เรื่องมันแย่ตรงที่ว่า เราไม่มีความสามารถเอาเงินเหล่านั้นออกมาใช้ให้เกิดโครงการที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปข้างหน้า ภาครัฐ ไม่มีการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ให้เม็ดเงินกระจายออกมา ธนาคารก็ไม่ปล่อยกู้ และสร้างมาตรการในการปล่อยกู้ที่เข้มงวด เพราะตัวเลข NPL สูงขึ้นตามลำดับ ส่วนกลุ่มทุนรายใหญ่ที่กำเงินจำนวนมากไว้ ก็ไม่ปล่อยเงินออกมาลงทุน ด้วยสาเหตุใดก็ไม่ทราบได้ ภาวะที่เรากำลังเจออยู่ขณะนี้ จึงเป็นภาวะที่ผมเรียกว่า ‘อึน’ ไม่มีใครขยับตัวอะไร ประเทศมีเงินจึงทำให้ค่าเงินแข็ง ส่งออกท่องเที่ยวเลยตก ภาครัฐไม่ใช้เงิน และคนมีเงินก็ไม่ใช้เงิน
และในภาวะที่อำนาจรัฐยังมีความปรกติอยู่นั้น แน่นอนการทำโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ ย่อมเป็นการกระจายเงินที่ไม่ได้ออกไปสู่วงกว้างได้รวดเร็วนัก ที่ผ่านมา ก็จะเป็นการ cascade ของทุนจากรัฐ ไปสู่ layer ที่ 2 ของกลุ่มทุนซึ่งมีความสัมพันธ์อันดีกับผู้มีอำนาจรัฐเท่านั้น และการใช้เงินก็จะใช้อยู่ในกลุ่มของตนเท่านั้น ทำให้การกระจายทุนลงสู่ระดับรากหญ้า ทำได้ช้า จนภาวะ ‘อึน’ นี้ ไม่หายไปและสะสมจนวิกฤตตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
วิธีที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในวินาทีนี้ ในการที่จะทำให้ประเทศไปข้างหน้าด้วยกันได้ (ไม่ใช่รวยกันแต่ GDP แต่ในความเป็นจริงประชาชนไม่มีข้าวกิน) ก็คือ เราต้องทุบไหเก็บเงินของภาครัฐให้แตกเร็วที่สุด เพื่อให้จัดกระบวนในการคอรัปชั่นไม่ทัน กระจายเงินสู่โครงการที่พัฒนาท้องถิ่นให้ทั่วประเทศ หรือไม่ก็ เอกชนด้วยกันเอง ต้องนำเงินทุนเข้าจากต่างประเทศจำนวนมหาศาล และนำเม็ดเงินเหล่านั้นสร้างให้เกิดการลงทุนจำนวนมาก และต้องกระจายการลงทุนเหล่านั้นให้ลงไปสู่ระดับรากหญ้าให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของวิสาหกิจชุมชน (social enterprise) หรือการสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน การขนส่ง อันจะเป็นที่มาของการกระจายความมั่งคั่งลงสู่ทุกซอกมุมของประเทศอย่างยั่งยืน
ความยากเข็ญของประชาชนในขณะนี้ คือ อำนาจรัฐ ไม่ได้คงอยู่อยู่บนอำนาจของประชาชนอย่างแท้จริง ถึงแม้ว่าอาจจะมีหลายคนที่มีอำนาจปกครองในภาครัฐมีความตั้งใจอย่างแท้จริงที่จะทำให้ประเทศเจริญก้าวหน้า แต่เมื่ออำนาจนั้นไม่ได้มีประชาชนเป็นรากฐานที่แข็งแกร่งให้ ก็ยากที่จะสร้างความเจริญก้าวหน้านั้นโดยปราศจากความกังวลในการสูญเสียอำนาจปกครองที่มี ทุกสิ่งที่ทำ ทุกโครงการที่สร้าง จึงต้องมุ่งไปสู่การรักษาอำนาจของตน มากกว่าการสร้างอำนาจทางเศรษฐกิจให้กับประชาชน และนั่นคือความสูญเสียของประเทศชาติโดยไม่ต้องสงสัย
ในเมื่อเราไม่สามารถพึ่งพาการลงทุนของภาครัฐ ที่จะลงทุนเพียงเพื่อรักษาฐานอำนาจต่อไปอีกได้ หนทางเดียวที่จะพาประเทศไทยของเราให้ก้าวข้ามความ ‘อึน’ ทางเศรษฐกิจนี้ไปให้ได้ คือการลงทุนอย่างมหาศาลของภาคเอกชน ในวิธีที่มุ่งมั่นที่จะกระจายความมั่งคั่งไปสู่ทุกภาคส่วนของประชาชนในประเทศ วินาทีที่เราปล่อยกระแสน้ำแห่งทุนที่เราเก็บกักเอาไว้ใช้คนเดียว และแบ่งปันให้แผ่นดินที่แห้งแล้งโดยรอบ ในระยะยาว เราจะได้ป่าไม้ที่ร่มรื่นยั่งยืน และสร้างแหล่งน้ำ ความชุ่มชื่นของเราได้อย่างไม่จบสิ้น ผู้ที่มี ‘ทุน’ ในขณะนี้ ต้อง ‘กล้า’ ที่จะใช้ทุนนั้น คนที่ไร้ทุนแต่มีสติปัญญา ก็ต้องใช้ปัญญานำทุนเข้ามาจากภายนอก ด้วยโครงการขนาดใหญ่ที่ฉลาดหลักแหลม และเป็นประโยชน์แก่ประชาชนโดยทั่วไป หากทุกคนพร้อมใจเดินหน้าไปพร้อมกันเช่นนี้ การเมือง จะไม่ได้มีความหมายมากนักอีกต่อไป เมื่อประชาชนทุกคนร่ำรวย เรามีอภิมหาเศรษฐีเกิดใหม่ขึ้นอีกพันคน ไม่ว่าใครจะมีอำนาจปกครอง ถึงเวลานั้น อำนาจปกครองจะต้องกลับมาฟังประชาชนอีกครั้ง เราจะเป็นผู้กุมหางเสือทางเศรษฐกิจของประเทศอีกครั้ง และเป็นเจ้าของประเทศไทยที่เรารักอย่างแท้จริงอีกซักที
ช่างหัวกติกาการเมืองที่พิกลพิการนี้ไปเถอะครับ ตั้งใจทำมาหากินของเราไปดีกว่า ผมนี่หมดหวังเสียละ