อยากเป็นนกผกผิน บินเวหา
อยากเป็นปลาว่ายเล่น น้ำเย็นใส
อยากเป็นแมว ไล่หนู ลงรูไป
อยากเป็นไก่ ขันก้อง ร้องกังวาน
อยากเป็นช้างอุ้ยอ้าย ส่ายงาแหลม
อยากเป็นผีเสื้อแซม สีผสาน
อยากเป็นดอกไม้บาน ยามเบิกบาน
อยากเป็นธารน้ำใส ไหลเรื่อริน
อยากเป็นกบ กระโดด โลดตลิ่ง
อยากเป็นปลิง เกาะแอบ แนบข้างหิน
อยากเป็นหอยตามประสา เที่ยวหากิน
อยากเป็นนิลน้ำงาม ตามบ่อพลอย
อยากเป็นดาว รุ่งโรจน์ แสงโชติช่วง
อยากเป็นดวงตะวัน อันสุดสอย
อยากเป็นเดือนจันทรา คราเลื่อยลอย
ไม่อยากเป็นเด็กน้อย โตช้าเอย
ตอนที่ผมเป็นเด็ก ผมได้รับอิทธิพลจากบทกวีของจ่าง แซ่ตั้ง บทนี้เป็นอย่างมาก เป็นครั้งแรกที่มีคนบอกผมว่านี่เป็นบทกวี และไม่ใช่แค่โคลงกลอนทั่วไปในตำราภาษาไทย ผมจำได้ว่าหนังสือของ จ่าง แซ่ตั้ง เล่มนี้ เป็นบทกวีที่เขียนขึ้นเป็นกลอนสำหรับเด็ก และถ้าอ่านให้เข้าใจแบบเด็ก ก็จะเข้าใจแบบเด็ก แต่ถ้าอ่านแบบผู้ใหญ่ ก็จะเข้าใจแบบผู้ใหญ่ และกลอนบทนี้เป็นกลอนที่ผมท่องจำได้มาตั้งแต่เด็กจนขึ้นใจ 40 กว่าปีผ่านไปผมก็ยังเรียบเรียงเขียนขึ้นมาได้จากความทรงจำได้ทั้งบท เป็นบทประพันธ์ที่อยู่ในความทรงจำผมในแบบที่ไม่เคยหายไป
ตอนที่ผมเป็นเด็ก อายุน่าจะ ป.3 ได้ ผมก็ประทับใจกับกลอนบทนี้แบบที่เด็กควรจะเข้าใจ ได้ยินครั้งแรกในการแข่งขันวาดรูปออกทีวีที่โรงเรียนส่งผมไปประกวด สมัยนั้นทีวีทั้งหมดออกอากาศเป็นรายการสดเกือบทั้งหมด การไปออกทีวีจึงหมายถึงไปออกรายการสด และเป็นเรื่องสลักสำคัญมากในสมัยนั้น ต้องบอกญาติพี่น้องมานั่งคอยดูกันทั้งตระกูลกันทีเดียว ในการแข่งขันนั้น ผู้จัดรายการอ่านบทกวีบทนี้ให้ฟัง แล้วให้เด็กแต่ละคนเลือกบางส่วนของบทกลอนที่ให้แรงบันดาลใจมาเขียนเป็นรูปภาพ ผมจำได้ว่าผมเลือกประโยคแรกที่พูดถึงนก เพราะเป็นสัตว์ที่ผมชอบมากในวัยเด็ก แต่ก็ประทับใจกับภาพที่เกิดขึ้นในหัวในทุกวรรคตอนของกลอนบทนี้ มันเป็นภาพในหัวผมที่เต็มไปด้วยความสุข ผมแทบจะเห็นภาพของสัตว์ใหญ่น้อยกระโดดโลดแล่นไปมา ดวงดาวระยิบระยับ ดวงอาทิตย์ที่เจิดจ้า และท้องฟ้าที่สดใส เหมือนเราถูกรายล้อมเต็มไปด้วยความสุขและความสวยงาม
ตอนผมอยู่ ป.3 นั้น คือช่วงปี 2516 และเป็นช่วงเวลาที่ความขัดแย้งทางการเมืองถึงจุดประทุแห่งช่วงเวลา 14 ตุลา ช่วงเวลาที่สังคมได้เห็นพลังความคิดของคนหนุ่มสาวยุคใหม่เอาชนะความกดขี่ของผู้นำทางทหารที่กดสังคมไทยไว้ไม่ให้เจริญก้าวหน้า แต่ตนและพวกพ้องสังเวยสุขบทความทุกข์ยากของประชาชน ในขณะผู้คนส่วนใหญ่ยังมีความยากจนแต่หลานของจอมพลที่เป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น สามารถนำเฮลิคอปเตอร์ของราชการไปบินล่าสัตว์ในป่าสงวนได้ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติของประชาชนโดยสงบ และเป็นแสงสว่างแห่งความหวังสำหรับความเท่าเทียมกันและประชาธิปไตยอาจจะเกิดขึ้นในสังคมไทย
แต่ในการเปลี่ยนแปลงนั้น คนในอีกพวกหนึ่ง ก็มีความกลัวในความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น การเสียสมดุลของอำนาจที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันทำให้ฝ่ายทหารที่เคยมีอำนาจอยู่เดิม ย่อมต้องเต็มไปด้วยความกังวลและต้องทำทุกอย่างเพื่อให้ได้อำนาจกลับคืนมา บทสนทนาล้างสมองว่าอำนาจใหม่ของนิสิตนักศึกษา เป็นเบื้องหน้าของเบื้องหลังในความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่ระบอบคอมมิวนิสต์ ฟังดูสอดคล้องกับความจริงรอบข้างกับประเทศที่อยู่โดยรอบเราขณะนั้น และสร้างความหวาดกลัวให้กับกลุ่มคนที่รักชาติและจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ได้อย่างมีประสิทธิผล และใช้ความจงรักภักดีดังกล่าวเพื่อนำไปสู่ความชอบธรรมและความสำเร็จในการกวาดล้างประชาชนที่มีความคิดที่อยากจะเป็นอิสระจากการปกครองของทหารในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ในอีก 3 ปีต่อมา
พ่อผมเองก็เป็นคนหนึ่งในกลุ่ม ‘ขวาจัด’ ในขณะนั้น (ถึงแม้ในเวลาต่อมาจะเข้าร่วมในการจัดการการปฏิวัติที่เป็นผลสำเร็จหลายครั้ง แต่ช่วงท้ายๆของชีวิตก็โจมตีการเข้ามามีอิทธิพลทางการเมืองของทหาร การคอรัปชั่น จนกลายเป็นฝ่ายที่ ‘ไม่ขวา’ จนสุดโต่งแทน) และพ่อก็มีข้อสงสัยในสิ่งใดก็ตามที่เป็นการสร้างสรรค์ของคนยุคใหม่ในยุคสมัยไปทุกเรื่อง ว่าอาจจะเป็นการล้างสมองของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยได้ ตอนที่ผมนำหนังสือบทกวีของ จ่าง แซ่ตั้ง กลับมาบ้าน เล่มที่ได้รับแจกมาจากการไปออกโทรทัศน์ คุณพ่อก็ต้องเอาไปอ่านอยู่อย่างละเอียดถี่ถ้วน เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ใช่บทกวีเพื่อล้างสมองลูกชายให้กลายเป็นฝ่ายซ้ายล้มล้างการปกครองที่กำลังเป็นที่หวาดกลัวของผู้ใหญ่ทุกคนในขณะนั้น ซึ่งกลัวคอมมิวนิสต์กันมากกว่ากลัวผีอยู่หลายเท่าอยู่ก็ว่าได้
จะคิดไป ก็ไม่ต่างอะไรกับเด็กที่ผู้ใหญ่ไม่อนุญาตให้เติบโต ผู้ใหญ่ที่ไม่ให้เด็กคิดเอง ลองผิดลองถูก หรือผิดพลาดบ้าง ก็ต้องคอยควบคุมเด็กไม่ให้ทำอะไรที่ออกไปนอกความเชื่อของผู้ใหญ่ แม้ว่าบางสิ่งที่ผู้ใหญ่เชื่อเหล่านั้น อาจจะไม่สอดคล้องกับยุคสมัยแล้วก็ตาม เด็กก็จะต้องถูกบังคับให้คิดตามผู้ใหญ่ ให้เชื่อตามผู้ใหญ่ ถ้าเด็กคนไหนไม่เชื่อฟัง ก็จะโดนด่าว่าเลวทรามต่ำช้า ไม่มีสัมมาคารวะ เด็กที่มีแนวคิดที่กบฎ ก็ต้องหนีเข้าป่าไป แต่ก็กลับออกมาด้วยสติปัญญาที่กล้าแข็ง ในทางกลับกันเด็กที่เชื่อฟังก็จะได้รับการชมเชยยกย่อง แต่สังคมก็จะก้าวหน้าไปอย่างเชื่องช้าแต่ปลอดภัย เปรียบได้กับเด็กน้อยที่โตขึ้นอย่างเชื่องช้านั่นเอง
บทกวีสำหรับเด็กของจ่าง แซ่ตั้ง เมื่อมองจากมุมมองของผู้ใหญ่อย่างผมในวันนี้ ก็จะเห็นว่า ทางเลือกของชีวิตในวัยเยาว์อันสดใส เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุขและจินตนาการ ซึ่งอาจเปรียบเทียบได้กับพลังชีวิตของประชาชนคนไทยและประเทศไทยของเรานั้น เป็นทางเลือกของความฝันที่อยู่ตรงข้ามกับสภาพของสังคมที่ไม่อนุญาตให้เด็กของเราเจริญเติบโตหรือบังคับให้เด็กของเรา ‘โตช้า’ ด้วยการควบคุมความคิด กำหนดถูกผิดด้วยมุมมองที่แคบ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไมประเทศนี้ถึงได้ ‘โตช้า’ ก็เพราะวิธีปกครองของผู้ใหญ่ที่ไม่อนุญาตให้เราเติบโตในความคิดนั่นเอง เรากังวลที่จะอนุญาตให้ประชาธิปไตยเติบโตด้วยเหตุผลต่างๆนา ซึ่งไม่ว่าเหตุผลนั้นจะจริงหรือไม่ ไม่สำคัญ แต่ที่สำคัญคือสังคมไทยของเรา ‘โตช้า’ มากในทางประชาธิปไตย และนั่นต่างหากที่ทำให้ประชาชนของเราอ่อนแอ และเมื่อประชาชนอ่อนแอ นั่นก็คือประเทศชาติที่อ่อนแอเช่นกัน
และทั้งหมดนี้ก็พาผมกลับไปที่วรรคแรกของกวีบทนี้
อยากเป็นนกผกผิน บินเวหา
เมื่อไหร่ที่สังคมไทยของเราจะได้รับอิสรภาพนั้นเสียที
Dear colleague,
Hope to have some time an English translation to enjoy your texts !
Best regards,
Dr CPL,
Paris.Santiago.Hanoi