A Ball In A Cup

ในค่ำคืนแห่งความกังวล ทำให้นึกถึงสำนวนฝรั่งอันหนึ่งที่สอนให้เราทำทุกสิ่งในวิธีที่เราเห็น ‘ลูกกอล์ฟลงหลุม’ ซึ่งน่าจะมาจากวิธีที่เราตีหรือพัตต์ลูกกอล์ฟบนกรีนนั้น โปรกอล์ฟหลายคนมักจะสอนให้พัตต์ในวิธีที่เรามองเห็นลูกกอล์ฟว่าจะลงหลุมโดยวิ่งไปอย่างไรก่อน ให้เราจินตนาการเห็นเป็นเส้นทางที่ลูกกอล์ฟนั้นกำลังจะวิ่งไปบนกรีน วิ่งโค้งช้าเร็วอย่างไรให้เป็นภาพชัดเจนก่อนจะลงมือพัตต์ จะช่วยให้เราสามารถมีโอกาสพัตต์ลูกกอล์ฟนั้นให้ลงหลุมได้มากขึ้น และเป็นสำนวนที่มาของประโยคที่ว่า A Ball In A Cup ที่หมายถึงลูกกอล์ฟลงหลุมนั่นเอง

ในวิธีที่เราสร้างประสิทธิภาพให้กับงานที่เราทำ การมองให้เห็นวิธีที่งานนั้นจะถูกทำขึ้นในแบบที่เห็นลูกกอล์ฟลงหลุมนั้น ก็จะหมายถึงการที่เรามองเห็นเส้นทาง (path) ของงานที่จะเกิดขึ้น หรือสิ่งที่เรากำลังจะสร้างขึ้นว่ามันจะเกิดขึ้นในวิธีใด มีอะไรที่ต้องลงมือทำบ้าง และจะอยู่ภายใต้ผลกระทบแบบใดในบริบทนั้นๆ และจินตนาการมองเห็นการเดินทางบนเส้นทางนั้นทั้งหมดไปจนถึงจุดหมายปลายทางอย่างชัดเจน ว่างานที่ทำนั้นจะประสบความสำเร็จหรือ ‘ลงหลุม’ อย่างไร โดยที่ไม่มีส่วนไหนที่ไม่คิดคำนึงถึงและพิจารณาถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องทุกสิ่งอย่างรอบคอบแล้ว แล้วจึงเริ่มลงมือทำ เราเชื่อกันว่า หากลงมือทำสิ่งใดในวิธีที่มองเห็น ‘ลูกกอล์ฟลงหลุม’ แบบนี้แล้วนั้น โอกาสของความสำเร็จนั้นก็แทบจะเต็มสิบส่วนสิบทีเดียว

เปรียบเทียบกับการเริ่มออกเดินทางจากที่ใดไปอีกที่หนึ่ง เราก็ต้องมีความชัดเจนสำหรับที่ที่เราจะไปว่าต้องเดินทางไปอย่างไรบ้าง เลี้ยวซ้ายขวากี่ครั้ง ไปถึงที่หมายแล้วอะไรบ้างที่เราอาจจะได้เป็นผลลัพธ์ หรือแม้กระทั่งคาดการณ์ว่าเราจะ ‘ค้นพบ’ อะไรบ้าง รวมทั้งคาดการณ์ว่าเราอาจจะค้นพบอะไรที่เราไม่คาดคิดบ้าง นั่นคือการลงมือทำในแบบที่ให้เราแน่ใจว่าลูกกอล์ฟจะลงหลุม และนั่นคือต้นเหตุแห่งวิธีทำในวิธีที่จะพาเราไปสู่ความสำเร็จ

หลายครั้งผมเองก็ไม่ได้ลงมือทำแบบนั้น และลงมือทำไปในวิธีที่ Work On Hope คือการลงมือทำด้วยเหตุผลและกระบวนการ และก็ ‘คาดหวัง’ ว่าจะได้ผลลัพธ์ที่เราจะพอใจ บางครั้งผมเองก็สับสนระหว่างกระบวนวิธีในการ ‘สร้าง’ และการ ‘ทำให้สำเร็จ’ ว่ามันมีวิธีที่แตกต่างกัน ในการวินาทีที่เราสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆนั้น เราต้องไม่มีเหตุผลใดๆในการสร้าง เป็นอิสระจากตัวตนของเราและมองเห็นในความเป็นไปได้ในบริบทที่เราอาศัยอยู่ แต่เมื่อเราสร้างแล้ว การทำให้สิ่งที่เราสร้างแล้วคงอยู่ได้ในวิธีที่เกิดสัมฤทธิ์ผลนั้น เราไม่สามารถ ‘ทำงานอยู่บนความคาดหวัง’ ได้ เราต้องคิดไปข้างหน้าแบบที่มองเห็น ‘ลูกกอล์ฟลงหลุม’ เท่านั้น เช่นถ้าเราจะทำโครงการให้สำเร็จ เราก็ต้องมองเห็นเลยว่าโครงการที่จะเกิดขึ้นนั้นจะหน้าตาเป็นอย่างไร ใครจะมาเป็นลูกค้าบ้างในวิธีที่นึกชื่อลูกค้าออกเป็นคนๆกันเลยทีเดียว มองเห็นว่าเขาจะมากันตอนกี่โมง เขาจะมากินหรือมาซื้ออะไรบ้าง ซื้อไปเยอะเท่าไหร่ และเราจะได้เงินเท่าไหร่ หักกลบลบหนี้แล้วเราจะกำไรเท่าไหร่และจะคืนทุนเมื่อใด ทำไปแล้วเราจะมีความสุขอย่างไร ลูกค้าจะมีความสุขอย่างไร และเขาจะพูดถึงเราอย่างไรบ้าง เป็นต้น

หรือถ้าในกรณีที่จะเลือกตั้ง ก็ต้องมองทะลุไปให้เห็นลูกกอล์ฟลงหลุมเลยว่า ได้เลือกตั้งแล้วจะยังไงต่อ พรรคการเมืองที่จะลงสมัครเลือกตั้ง เลือกตั้งได้มากน้อยแค่ไหน ได้แล้วยังไงต่อ จะตั้งรัฐบาลอย่างไร ถ้าได้เสียงมากเสียงน้อยแล้วยังไง หรือไม่ได้เสียงเลยแล้วจะสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นสำหรับตัวเองและประเทศชาติยังไง ถ้าแค่ในกระบวนการเลือกตั้งยังคิดให้ตัวเองลงมือทำแบบ A Ball In A Cup ไม่ได้ ถ้าได้เป็นรัฐบาลก็จะทำได้แค่เพียง Work On Hope ไปวันๆ ไม่สามารถนำพาประเทศไปสู่ความสำเร็จได้เช่นกัน

ในวิธีที่เราลงมือทำแบบ ‘ลูกกอล์ฟลงหลุม’ นี้ จะทำให้เรามองเห็นภาพของความสำเร็จชัดเจนอยู่ตรงหน้า จนเราสามารถอธิบายให้ผู้อื่นเห็นภาพอนาคตที่เราสร้างขึ้นนั้นจนเสมือนมันกำลังจะเกิดขึ้นจริงอย่างแน่นอนเต็มร้อย และเมื่อเราสามารถอธิบายภาพแห่งความเป็นไปได้เหล่านั้นอย่างชัดเจนเท่านั้นที่ผู้คนจะถูก ‘โน้มน้าว (enrolled) ไปสู่ความเป็นไปได้นั้นในวิธีที่เราสร้างความเป็นไปได้นั้นขึ้น ความสามารถในการโน้มน้าวนี้เองที่เป็นต้นกำเนิดของภาวะผู้นำที่ทรงพลัง และเป็นภาวะของผู้นำที่ไม่ได้มาจากอำนาจที่มี แต่เป็นผู้นำของรัฐและองค์กรที่พาผู้คนไปสู่ความเป็นไปได้ใหม่ ที่ให้แรงบันดาลใจอย่างเต็มเปี่ยม จุดยืนของผู้นำที่มาจากการโน้มน้าวนั้น อยู่คนละที่กับการเป็นผู้นำที่ยืนมาจากความถูกต้องหรือความขัดแย้ง แต่จะเป็นผู้นำที่ยืนมาจากภาวะที่ ‘ใช้การได้ (workable)’ ของสังคม และภาวะผู้นำที่ให้แรงบันดาลใจนี่เองที่จะพาสังคมให้เดินไปข้างหน้า ผ่านภาวะถดถอยที่น่ารำคาญไปได้อย่างแท้จริงเสียที

มันต้องใช้เวลา ความผิดพลาด และเงินทองไปมากมายสำหรับผม เพียงเพื่อจะเรียนรู้บทเรียนของความสำเร็จ A Ball In A Cup นี้อย่างถ่องแท้และไม่ได้เป็นแค่แนวคิดในวิธีที่ผมผิดพลาดนั้น ผมไม่ได้ทำงานแบบลูกกอล์ฟลงหลุมนี้เลย ซ้ำร้ายคือผมหวังพึ่งพาคนอื่นให้พัตต์ลูกกอล์ฟแทนผมด้วยซ้ำ นอกจากผมจะไม่ได้มองเห็นลูกกอล์ฟลงหลุมแล้ว ผมยัง ‘ทำงานบนความคาดหวัง’ ว่าลูกกอล์ฟจะลงหลุม แล้วยัง ‘คาดหวัง’ ว่าคนอื่นจะพัตต์ลูกกอล์ฟให้ผมลงหลุมเสียด้วย ผมมองเห็นเลยว่านี่ไม่ใช่วิธีที่ผมจะชนะเกมส์ของผม ซ้ำร้ายก็คือ ผมไม่ได้เป็นผู้นำในเกมส์ของผมเสียด้วยซ้ำ ผมไม่ได้เป็นนักกีฬาบนสนาม (People On The Court) แต่เป็นผู้ชมบนอัฒจันทร์ (People On The Stand) และไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไมผมไม่มีทางที่จะชนะเกมส์นั้นๆเลย เพราะคนที่อยู่บนอัฒจันทร์ แม้ว่าเขาจะเชียร์กีฬาหรือโค้ชนักกีฬาเก่งแค่ไหน พวกเขาไม่ได้อยู่ในเกมส์เลยแม้แต่นิดเดียว

สิ่งที่ผมมองเห็นตัวเองจากนี้ไป คือความเป็นไปได้สำหรับภาวะของผู้นำที่ลงมือทำในแบบที่แน่ใจว่าลูกกอล์ฟของเราจะลงหลุมทุกครั้ง สร้างความเป็นไปได้จากวิธีที่เราเห็นลูกกอล์ฟลงหลุมนี้ให้ผู้คนที่ทำงานกับเราและอยู่รอบๆตัวเราเห็นความเป็นไปได้นี้ร่วมกัน ในวิธีที่เขาถูกโน้มน้าวจนเกิดแรงบันดาลใจ นั่นคือวิธีที่ผมจะสร้างจุดยืนของผมขึ้นมาใหม่จากวิธีของโครงการและธุรกิจที่ผมทำมาจากภาวะที่ทำให้สังคมนั้นใช้การได้ ด้วยการลงมือทำแบบนักกีฬาที่อยู่บนสนามตลอดเวลา และสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นสำหรับตัวเรา สังคมของเรา และประเทศของเรา

Submit a comment

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s