มองออกไปเช้านี้ เห็นรางรถไฟฟ้าก่อสร้างออกไปสุดสายตา เหมือนว่าอีกไม่นานจะได้เห็นรถไฟฟ้าออกวิ่งบนรางนั้น ให้ผู้คนได้ไปมาหาสู่กันได้ง่ายขึ้น ภาพแบบนี้ไม่น่าจะเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นอะไรสำหรับคนกรุงเทพฯ เพราะเรามีโอกาสได้เห็นภาพแบบนี้กันจนคุ้นตา บางที 3-5 ปีก็มีแต่รางลอยเต็มไปหมดแต่รถยังไม่ได้วิ่งก็มี
แต่เช้านี้ผมอยู่ที่ขอนแก่นครับ
ผมจำได้ว่าวันที่คนขอนแก่นลุกขึ้นมาประกาศสร้างรถไฟฟ้าใช้กันเอง 15,000 ล้านบาท แบบไม่รองบประมาณแล้วท่านนายกฯออกคำสั่งโดยใช้มาตรา 44 ให้เดินหน้าโครงการได้นี่ ไม่น่าจะเกินปีที่แล้ว มาวันนี้รางรถไฟฟ้ายืนตระหง่านสง่างามอยู่กลางเมืองอย่างรวดเร็ว เหมือนว่าอีกไม่นานเกินรอ ชาวขอนแก่นก็จะได้เดินขึ้นรถไฟฟ้า 22.6 กิโลเมตร 16 สถานี เดินทางเชื่อมต่อจุดสำคัญใจกลางเมืองเข้าหากันได้อย่างรวดเร็ว เป็นการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนที่รวดเร็วอย่างเหลือเชื่อ และแทบจะไม่อยากเชื่อสายตาว่าสามารถเกิดขึ้นได้ในประเทศไทยของเรา
ผมเองได้มีโอกาสเจอและพูดคุยกับตัวแทนจากกลุ่มขอนแก่นพัฒนาเมืองผู้เป็นเจ้าของโครงการรถไฟฟ้าขอนแก่นนี่อยู่หลายครั้ง และประทับใจในความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาท้องถิ่นของตน จนเป็นต้นแบบของ ‘ขอนแก่นโมเดล’ ที่เราคุ้นหู คนขอนแก่นได้ทำให้เราเห็นความเป็นไปได้ใหม่ที่จะพัฒนาเมืองจาก ‘ล่างขึ้นบน’ สร้างโครงการที่มาจากความต้องการของประชาชนจริงเพื่อไปกำหนดนโยบายรัฐ และถ้าภาคเอกชนมองเห็นประโยชน์ร่วมกัน ก็ไม่ยากอะไรที่จะระดมทุนเพื่อลงทุน โดยไม่ต้องรองบประมาณและการกำหนดนโยบายจากภาครัฐที่เชื่องช้า และมีเรื่องของผลประโยชน์ทางการเมืองเข้ามาพัวพันจนแทบจะเดินหน้าไปไหนไม่ได้ วันนี้ ขอนแก่นไม่รอรัฐ และเดินไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว สร้างเมืองของตนเองขึ้นเพื่อคนเมืองอย่างแท้จริง เป็นตัวอย่างของการพัฒนาเมืองอย่างน่าชื่นชม
ในกรุงเทพฯเอง ก็มีความพยายามในลักษณะคล้ายๆกันเกิดขึ้นตามภาคส่วนต่างๆที่กำลังเริ่มขึ้น ความพยายามของกลุ่มเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่พยายามรวมชุมชนริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณบางรักและคลองสานเข้าหากันเป็น ‘ย่านสร้างสรรค์ (Creative District)’ นั้น ก็ค่อยๆก่อตัวเป็นรูปร่างขึ้นอย่างช้าๆ โดยมีมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเมืองสร้างสรรค์ (Creative District Foundation) เข้ามาเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยชุมชนในย่านสร้างสรรค์นี้ ให้เกิดกิจกรรมและพื้นที่สำหรับเศรษฐกิจในกลุ่มงานสร้างสรรค์ (Creative Economy) โดยที่ไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐแต่อย่างใด เป็นเรื่องน่าแปลกที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เป็นหนึ่งในนโยบายรัฐที่ได้มีการพูดถึงอยู่อยู่บ่อยครั้งในฐานะที่เป็นอนาคตของประเทศไทยในแบบสี่จุดศูนย์ แต่เหมือนการขับเคลื่อนจะไม่มีโครงการที่จับต้องได้ให้เห็นบ่อยนัก ล่าสุดก็น่าจะมีเพียงงาน Bangkok Design Week ที่มี TCDC เป็นเจ้าภาพและทำงานรวมกับ Creative District ในการจัดงาน ซึ่งเป็นงานที่มีคนเข้าร่วมงานเกือบ 5 แสนคน เมื่อเทียบกับงบประมาณที่ได้มาอย่างน้อยนิดแล้ว ถือว่าเป็นโครงการของรัฐที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดโครงการหนึ่งทีเดียว
เมือง อาจจะใช้การได้ดีขึ้น เมื่อได้รับการพัฒนาจากประชาชนโดยตรง ในยุคที่รัฐกับประชาชนเหมือนจะอาศัยอยู่กันคนละโลกในปัจจุบัน สังคมอาจจะงดงามขึ้นหากภาครัฐยอมรับความจริงข้อนี้ และลดบทบาทของตนจาก ‘ผู้ที่ต้องใช้งบประมาณและกำหนดนโยบาย’ มาเป็น ‘ผู้ที่สนับสนุนการดำเนินการตามนโยบายภายใต้ความต้องการของประชาชน’ น่าจะสง่างามกว่า การลุกขึ้นมายืนของภาคประชาชนเพื่อให้เกิดการพัฒนาในท้องถิ่นโดยไม่อยู่ในกรอบนโยบายของภาครัฐนั้น ปัจจุบันเต็มไปด้วยความยากลำบากและเจ็บปวดยากเข็ญ แต่กลุ่มขอนแก่นพัฒนาเมือง ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเมืองสร้างสรรค์ ต่างก็พยายามสู้กับแรงเสียดทานเหล่านั้นจนเริ่มประสบความสำเร็จ เมื่อกลับมามองโครงการที่ประชาชนไม่ต้องการอย่างถนนในแม่น้ำเจ้าพระยา หรือความพยายามล่าสุดที่กทม.จะเอาหอศิลป์กทม.กลับไปบริหารงานเอง เห็นแล้วก็ปวดใจ และอยากให้มามองกันอีกทีว่า สิ่งใดกันแน่คือสิ่งที่รัฐควรทำ และไม่ควรทำ
และเมื่อไหร่กันจะถึงเวลาที่รัฐจะเริ่มฟังประชาชน และทำงานร่วมกันเสียที เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง