Creativity At The Source

มีคนพาผมไปดูงานออกแสดงเพื่อนำเสนอโครงการของ Tech Start Up จำนวนมากมายในประเทศไทย ผมตื่นตาตื่นใจอย่างมากไปกับความตั้งใจและพลังงานของคนรุ่นใหม่ๆในประเทศ

สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นเลยว่าเป็นที่ต้องการอย่างยิ่งยวดในการสร้างและพัฒนาธุรกิจประเภทนี้ ก็คือความคิดใหม่ๆในการสร้าง application หรือ การบริการ ต่างๆ เพื่อให้เกิดเป็นธุรกิจใหม่ในวิธีที่ผู้คนจำนวนมากให้ความสนใจ

หัวใจสำคัญคือความสามารถที่จะพัฒนาให้ application เหล่านั้นเป็นที่สนใจของคนทั่วไปให้มากที่สุด และเป็นความคิดเล็กๆเพียงหนึ่งอย่างแต่สามารถทำให้เกิดความสนใจในวงกว้างมากที่สุด ซึ่งความคิดที่จะประสบความสำเร็จได้นั้น ส่วนมากจะเป็นความคิดที่ ‘ง่าย’ แบบไม่น่าเชื่อ เพียงแต่ยังไม่มีใครเคยคิดมาก่อนเท่านั้นเอง

นั่นแปลว่า ความคิดที่ดีที่จะทำให้ application นั้นกลายเป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จได้ ต้องมีระดับของ ‘การสร้างสรรค์ (creativity)’ อยู่ในระดับที่สูงมาก

การสร้างสรรค์ เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งยวดในการสร้างธุรกิจในปัจจุบัน โดยเฉพาะธุรกิจสมัยใหม่อย่างการทำ Tech Start Up แบบนี้ แต่ก็น่าเสียดายเหลือเกินที่ยังไม่มีใครที่สามารถที่จะทำให้คนไทย หรือใครก็ตาม เกิดกระบวนคิดในทางสร้างสรรค์ได้อย่างเป็นรูปธรรม ส่วนใหญ่ที่เราทำได้ มากกว่าครึ่งจึงเป็นการลอกสิ่งที่มีอยู่แล้วแต่พยายามปรับปรุงให้ดีขึ้นหรือแตกต่างออกไปเล็กน้อย และการเดินชมงานเมื่อวาน ผมก็ยังไม่ได้เห็น application ไหนที่โดดเด่นและแสดงให้เห็น breakthrough ทางความคิดในแบบที่ผมคาดหวัง

การที่จะทำให้ได้มาซึ่งความคิดสร้างสรรค์นั้นเป็นเรื่องง่ายมาก แต่สิ่งที่เป็นความขัดแย้งก็คือ การจะได้มาซึ่งการสร้างสรรค์ที่ยอดเยี่ยมนั่น เราต้องสามารถที่จะปล่อยวาง ‘เหตุผล’ ที่เรามีได้อย่าง 100% ได้ในช่วงเวลาสั้นๆ เหตุผล เป็นกับดักที่มาจากอดีต ผมไม่ได้บอกให้เรา ‘ไร้เหตุผล’ แต่บอกให้เรา ‘ไปเหนือเหตุผล’ และความสามารถที่จะไปเหนือเหตุผลได้ในช่วงระยะเวลาสั้นๆนี่เองที่จะอนุญาตให้เราได้อยู่ในพื้นที่ (space or clearing) สำหรับการสร้างสรรค์ได้ 

ในวินาทีที่เราอยู่ในพื้นที่นั้นเท่านั้นเอง ที่เราจะถามคำถามตัวเราเองสั้นๆและเรียบง่ายว่า

‘มีอะไรเป็นไปได้บ้างในบริบทที่ฉันอาศัยอยู่ (What’s possible within the context?)’

ในวิธีที่เราถามนั้น เราจะต้องให้แน่ใจว่าท่ามกลางพื้นที่สำหรับการสร้างสรรค์ เราต้องถูกแวดล้อมอยู่ท่ามกลางบริบท (context) ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เราอยากสร้างสรรค์อย่างเหมาะสมและเพียงพอ อุปมาเหมือนการต่อจุดบนกระดาษให้เป็นภาพ บริบทก็เหมือนจำนวนจุดที่อยู่บนกระดาษเหล่านั้น การมีจุดมากก็จะทำให้เราเห็นภาพได้รวดเร็วและชัดเจนขึ้น และมองเห็นความเป็นไปได้ว่าจุดเหล่านั้นมันจะเป็นภาพอะไรได้บ้าง

เวลาภาพเหล่านั้นมันปรากฏขึ้น เราไม่ต้องใช้ความพยายามที่จะคิดด้วยซ้ำ มันจะปรากฏขึ้นเป็นภาพตรงหน้าในแทบจะทันทีที่เรามีบริบทมากพอและเราพยายามมองหา ‘ความเป็นไปได้’ ของภาพท่ามกลางจุดเหล่านั้น การสร้างสรรค์ไม่ได้เกิดขึ้นในระหว่างที่เราพยายาม ‘คิด’ แต่ในทางตรงกันข้าม มันจะเกิดขึ้นเองตอนที่เรา ‘ไม่ได้คิด’ มากกว่า กระบวนการทำงานของสมองในช่วงจังหวะที่เราเกิดการสร้างสรรค์ขึ้นนั้น เป็นช่วงเวลาที่รูปแบบการทำงานของระบบประสาท (neuron pattern) มีโอกาสปล่อยการจับกับเป็นรูปแบบที่ตายตัวออกจากกัน และจับตัวเข้าหากันในรูปแบบใหม่ กระบวนการที่พยายาม ‘คิด’ นั้นยิ่งจะทำให้เครือข่ายของระบบประสาทนั้นจับกันแน่นยิ่งขึ้น และไม่หลุดไปจากระบบเดิม ซึ่งนั่นทำให้ไม่มีทางที่เราจะเกิดการจับตัวของรูปแบบใหม่ในการทำงานของสมองผ่านกระบวนการคิดของ ‘เหตุผล’ 

ถ้าเรายัง ‘คิดไม่ออก’ หรือไม่มีกระบวนการสร้างสรรค์เกิดขึ้นกับเรา ก็ให้แน่ใจว่ามีเพียงแค่สองอย่างเท่านั้นที่เราต้องทำ คือ 1) ปล่อยวางเหตุผลทั้งมวล กับ 2) อยู่ท่ามกลางบริบทที่มากพอ เท่านี้เองการสร้างสรรค์ก็พร้อมที่จะก่อกำเนิดขึ้นมาเมื่อเรามองหาความเป็นไปได้ของการสร้างสรรค์นั้นๆ และพาเราไปสู่ความคิดใหม่ๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ไร้ข้อจำกัดใดๆ และเป็นอิสระ

การสร้างสรรค์เป็นเรื่องง่ายอย่างไม่น่าเชื่อ สิ่งเดียวที่พันธนาการตัวเราเอาไว้จากการสร้างสรรค์นั้นก็คือตัวเรา และเหตุผลของเรา แค่นั้นเอง

Submit a comment

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s