End of Days: Part II

จากจุดนี้ลองมาคาดการณ์ดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทยบ้างในอีก 6-8 เดือนข้างหน้านะครับ

ปัจจุบัน สิ่งที่เกิดขึ้นคือการลงทุนจากต่างประเทศในแบบที่เราเรียกว่า Direct Foreign Investment (DFI) นั้น อยู่ในระดับที่ต่ำ จากเคยที่แตะกันระดับแสนล้านในอดีตกลับลงมาเหลือไม่ถึง 2 หมื่นล้าน ทำให้ตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ใช้ GDP เป็นตัววัดนั้น ลดลงเหลือแค่ 3.3% ในขณะที่ครั้งหนึ่งเราเคยตื่นเต้นไปกับตัวเลขเกือบ 7% นั่นแปลว่า เงินในระบบเหลือน้อยลง และเศรษฐกิจเริ่มฝืดเคืองจนเห็นได้ชัด

ในตอนช่วงปี 2540 ที่เราเคยผ่านวิกฤติมาครั้งหนึ่งนั้น ยังจำได้ว่าการที่อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลล่าร์ตกลงไปเกือบเท่าตัวนั้น แม้ว่าจะทำให้เกิดความเสียหายกับธุรกิจที่กู้ยืมเงินจากต่างประเทศจำนวนมากเข้ามาอย่างสาหัส แต่ประเทศเราก็สามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วกว่าที่คาดไว้อันด้วยอานิสงส์ของค่าเงินของค่าเงินบาทที่อ่อนนั่นแหละที่ทำให้ธุรกิจส่งออกและธุรกิจท่องเที่ยวเติบโตอย่างแข็งแรง และนำเอาเงินจากภายนอกเข้ามาในประเทศได้อย่างรวดเร็ว และเรามีทุนสำรองเพิ่มขึ้นจนเงินบาทเกิดเสถียรภาพได้อย่างรวดเร็ว นอกจากความร่วมมือกันจากทุกภาคส่วน นอกจากความจริงที่ว่าคนระดับมันสมองของประเทศทุกคนช่วยกันรุมแก้ปัญหาอย่างเต็มที่แล้ว ปัจจัยของอัตราแลกเปลี่ยนก็เป็นนัยยะสำคัญที่ทำให้เรานำเงินเข้าประเทศได้รวดเร็วจนพ้นภาวะล้มละลาย

ในวันนี้ เรากำลังเข้าสู่ภาวะบางอย่างที่คล้ายกัน เงินเข้ามาจากต่างประเทศน้อยลง มันจึงเป็นไปได้ที่เราควรจะขับเคลื่อนกันด้วยนโยบายเงินบาทอ่อนกันอีกครั้ง เพื่อให้การส่งออก ธุรกิจบริการและการท่องเที่ยวกลับมาเบ่งบาน นำเงินเข้าประเทศได้มากขึ้นในช่วงเวลาที่เราปิดประเทศแบบนี้ จริงอยู่ว่าหลายประเทศทั่วโลกปฏิเสธการลงทุนในระดับรัฐเพียงเพราะไม่มีความเชื่อมั่นในรัฐบาลทหารและนโยบายต่างๆที่ไม่ได้สนับสนุนธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรม และแนวโน้มของการคอรัปชั่นที่สูงขึ้นด้วยอำนาจเบ็ดเสร็จ แต่ถ้านักลงทุนมองเห็นการที่เงินบาทอ่อนค่าเป็น ‘โอกาส’ ก็อาจจะมีแรงจูงใจมากพอที่จะมองข้ามปัจจัยเหล่านั้นไปได้

คำถามคือ ไม่ต้องใช้นักเศรษฐศาสตร์ระดับอัจฉริยะ แค่สถาปนิกแก่ๆคนนึงก็คิดออก แต่ทำไมรัฐบาลไม่ยอมปล่อยให้เงินบาทอ่อนค่าลง แต่กับใช้เงินสำรองประคองเงินบาทให้อยู่ในระดับสูง บ้างก็ว่าถ้าปล่อยให้เงินบาทอ่อนค่า รัฐบาลจะ’ดูไม่ดี’ในสายตาชาวบ้าน เพราะชาวบ้านมักจะใช้อัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลล่าร์เป็นดัชชีชี้วัดสภาพเศรษฐกิจของประเทศ บ้างก็บอกว่าเป็นเพราะรัฐต้องการเอาเงินบาทไปซื้อสิ่งของจากต่างประเทศจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นรถไฟหรือเรือดำน้ำ และไม่อยากจ่ายเงินแพงขึ้นมาก หรืออาจจะเป็นเพราะนักเศรษฐศาสตร์ระดับหัวกะทิของประเทศที่เคยประคับประคองประเทศมาหลายยุคสมัย ล้วนถูกรัฐบาล’ไล่ออก’ไปเกือบหมดในยุคสมัยนี้ เหลือไว้แต่นายทหารที่ไม่มีความเข้าใจเรื่องนี้มากพอเป็นคนตัดสินใจ จะเป็นด้วยสาเหตุใดก็ตามประเทศไทยวันนี้ถูกทิ้งไว้ในสภาพที่ไม่มีเงินไหลเข้า เงินที่มีอยู่ก็ร่อยหรอลง และค่าเงินบาทที่ไม่สนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆที่เป็นรูปธรรม ประกอบกับการนำเสนอระเบียบปฏิบัติที่ทำลายเศรษฐกิจให้ย่อยยับเพิ่มขึ้น เช่น การควบคุม Facebook หรือ Youtube หรือการออกพระราชกำหนดที่ทำให้แรงงานต่างด้าวหนีกลับประเทศ ออกมาทำให้ประชาชนเดือดร้อนเพิ่มขึ้นเป็นระยะๆ สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าคือสภาพ ‘ถังแตก’ ระดับชาติ และบังคับให้อัตราแลกเปลี่ยนต้องลดค่าลงอย่างมากและรวดเร็ว ทำให้เกิดสภาพเงินเฟ้ออย่างรุนแรง เงินบาทจะมีมูลค่าน้อยลงจนไม่สามารถทำให้เกิดการจูงใจให้ลงทุน ทุกคนจะจนลงอย่างน้อย 30% กันถ้วนหน้า และในสภาพนั้นเองรัฐก็จะไม่มีความสามารถจะจัดเก็บภาษีได้ตามเป้า และสิ่งที่น่าจะคิดได้ด้วยสติปัญญาที่มีก็คือจัดเก็บภาษีมากขึ้นไปอีก และประเทศก็จะเริ่มเข้าสู่วงจรอุบาทว์ของการรีดเลือกกับปูอย่างน่าสพึงกลัว เพราะนั่นคือสิ่งเดียวที่รัฐบาลทหารที่มีอำนาจเต็มอย่างมาตรา 44 ทำได้และจะทำในสภาพจนตรอก หันหลังกลับมาอีกด้านหนึ่ง ก็จะพบว่ารัฐบาลมีหนี้ที่ก่อไว้มหาศาลจากโครงการขนาดใหญ่ที่ผูกพันด้านงบประมาณ ไม่ว่าจะเป็นถนนในแม่น้ำ 14 กิโลเมตร การจัดซื้อเรือดำน้ำและอาวุธอื่นๆ รวมทั้งการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงปานกลาง ที่เคยเชื่อว่าถ้าสร้างเสร็จจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ก็จะกลายเป็นภาระหนี้ที่ไม่มีปัญญาจ่าย และถูกทิ้งให้ค้างไว้โดยทำให้เสร็จไม่ได้ สุดท้าย ไม่เกินกลางปีหน้า เราก็จะเข้าสู่ความหายนะที่แท้จริง และอาจจะต้องกลับไปขอความช่วยเหลือจากกองทุนระหว่างประเทศกันอีกครั้ง และมีพันธนาการทางเศรษฐกิจต่อไปอีกหลายปี

แน่นอนว่าวิธีการที่ทำให้สภาวะเศรษฐกิจของประเทศดีขึ้นแบบฉับพลัน คือการที่รัฐบาลประกาศให้เกิดการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งแม้ว่าจะเขียนไว้ในวิธีที่ทหารยังควบคุมประเทศไว้อย่างสมบูรณ์ นักลงทุนต่างประเทศก็ยังอาจจะมองเป็นสัญญานที่ดี และพลิกสถานการณ์กลับมาให้เป็นบวกได้ก่อนที่จะสายเกินไป และการเลือกตั้งควรจะมีขึ้นในช่วงต้นปี น่าจะเป็นวิธีที่ทำให้การลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาทันเวลาก่อนที่เราจะเข้าสู่ทางตัน แต่วิธีการเลือกตั้งนี้ อาจทำให้ฝ่ายทหารยังกังวลในเสถียรภาพของอำนาจที่มีอยู่อย่างเบ็ดเสร็จในปัจจุบัน ทหารและผู้สนับสนุนคิดว่า ถ้ายิ่งยืดการเลือกตั้งออกไปยาวนานมากได้เท่าไหร่ ฝ่ายการเมืองฝั่งตรงข้ามก็จะยิ่งอ่อนแอมากขึ้นเท่านั้น โดยที่หารู้ไม่ว่า การดึงให้การเลือกตั้งยาวนานออกไปนั้นเป็นผลดีกับการเมืองเป็นอย่างมาก เนื่องจากเศรษฐกิจที่แย่ลงย่อมทำให้ความนิยมในรัฐบาลทหารลดลงไปมากขึ้นเรื่อยๆ หากทางฝั่งนายทหารบางส่วนคิดจะเข้ามาลงสมัครรับเลือกตั้งด้วย ก็ควรจะประกาศเลือกตั้งในจังหวะที่ยังมีความนิยมเหลืออยู่ และนักการเมืองรุ่นใหม่ๆก็ยังไม่แข็งแรงนัก ชอบหรือไม่ก็ตาม การเลือกตั้งดูเหมือนจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดในทางเศรษฐกิจสำหรับประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

มันคงเป็นเรื่องดีถ้าความเห็นทั้งหมดนี้มันเป็นแค่ความคิดของสถาปนิกแก่ที่ไร้สาระ และขาดข้อมูลที่เชื่อถือได้ และมันจะยอดเยี่ยมมากถ้ารัฐบาลมี ‘เวทมนต์’ อื่นที่ซ่อนไว้ที่สามารถเนรมิตเศรษฐกิจให้ดีขึ้นได้ในพริบตา ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ก็อยากจะขอให้ร่ายเวทมนต์นั่นซักทีเถิด ก่อนที่ทุกอย่างจะเดินทางไปถึงจุดอับและประเทศต้องอยู่ในสภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรงในอีก 6-8 เดือนข้างหน้านี้ 

Submit a comment

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s