Are we all the prisoners of our own self?
ทันทีที่ฉากสุดท้ายจบลงด้วยประโยคสำคัญที่ว่า ‘เราคิดว่าอดีตคือเรา แต่การกระทำต่างหากที่กำหนดว่าเราคือใคร’ สะท้อนหายไปจากโสตประสาท ความคิดก็พลันหวนกลับมามองตัวเองว่า เราทุกคนล้วนเป็นวิญญานที่ถูกกักขังอยู่ในเปลือกของสังคมที่เราอาศัยอยู่หรือไม่
ในภาพยนต์ Ghost คือสมองของมนุษย์ที่ถูกจับเข้ามาใส่ในร่างจักรกล เพียงเพื่อสร้างคนครึ่งมนุษย์ที่เรียกว่า ‘ไซบอร์ค’ ให้กลายเป็นอาวุธที่ยอดเยี่ยมในการสังหาร แม้ว่าร่างกายจะเป็นเครื่องจักรที่ทรงพลังและรุนแรงอย่างแม่นยำ แต่ก็ต้องอาศัยสมองของมนุษย์ในการทำให้เครื่องจักรนั้นทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ ตัดสินใจได้อย่างว่องไว
แต่สิ่งที่ได้มากับสมองมนุษย์ก็คือความทรงจำ ที่คอยจะพาให้เครื่องจักรนั้นกลับไปสู่กำเนิดของมันในครั้งที่ยังมีลมหายใจภายใต้ผิวหนังที่เต็มไปด้วยเลือดฝาด และความวุ่นวายก็เริ่มก่อเค้าให้เห็น เมื่อที่มาของการได้มาซึ่งความเป็นมนุษย์แก่เครื่องจักรนั้น มาจากการสังหารมนุษย์ด้วยกันเกือบร้อยคน เพียงเพื่อให้ได้การทดลองที่สำเร็จเพียงหนึ่งอันเป็นเอกอุ ร่างเครื่องจักรนั้น แม้ว่าจะให้ชีวิตใหม่กับจิตใจที่ดับสูญ แต่ก็กักขังวิญญานนั้นไว้ เพียงเพื่อจะได้ประโยชน์จากการใช้งานสองร่างนั้น แค่นั้นเอง
ในสังคมปัจจุบัน ก็ดูเหมือนเราจะไม่ได้มีชีวิตที่แตกต่างไปจาก Ghost In The Shell นัก แม้ว่าเราจะไม่ได้มีลมหายใจในร่างจักรกล แต่เราก็มีชีวิตอยู่ในสังคมที่มีเปลือกแห่งการดูดีที่ครอบเราเอาไว้อย่างหนาแน่น ความกลัวที่กลืนกินจิตวิญญานของเรา จน Ghost ในร่างของเรา ตายไปทีละน้อย และลืมตัวตนของเราไปว่าเราคือใคร เราอยู่ในสังคมที่ความถูกต้องถูกตัดสินจาก ‘เปลือก’ มากกว่า ‘แก่น’ เพียงเพราะมันรับรู้ได้ง่าย และเราก็อนุญาตให้วิญญานของเราสิงสู่อยู่ใน ‘เปลือก’ นั้นราวกับการยอมจำนนในโชคชะตา ราวกับว่าเราเป็นเพียงเครื่องจักรที่ปราศจากจิตใจ
จนกว่าที่เราจะลุกขึ้นที่จะเป็นอิสระจาก ‘เปลือก’ ที่พันธนาการเราเอาไว้ ก็ยากเหลือเกินที่จิตวิญญานของเราจะเป็นอิสระ และค้นพบตัวเราที่แท้จริงที่ซ่อนอยู่ภายใน และกลายเป็นตัวเราที่แท้จริง