การเดินทางไปประชุมกับ Design Hotels จากทั่วโลกของผมในแต่ละปี มักจะได้แนวความคิดในเรื่องใหม่ๆกลับมาให้ใช้ได้เสมอ แม้ว่าส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับเศรษฐศาสตร์หรือการตลาด และไม่ได้เป็นเรื่องของการออกแบบโดยตรง แต่ก็นำมาเป็นบริบทสำหรับการออกแบบได้อย่างน่าสนใจ ในการประชุมปีนี้ที่บาเซโลนา เราพูดถึงเรื่องการร่วมมือ (collaboration) ในฐานะหนทางใหม่ของความเป็นได้ของธุรกิจกันครับ ผมนำมันกลับมาบ้านพร้อมกับความคิดที่แตกลูกออกดอกกันไปได้อีกหลายทิศทางทีเดียว
Claus Sendlinger ผู้บริหารสูงสุดของ Design Hotels TM เล่าให้ฟังถึงวิสัยทัศน์ของกลุ่ม Design Hotels ที่หันหัวกลับมาร่วมมือกับกลุ่มโรงแรมขนาดยักษ์อย่าง Starwood ที่เคยดูเหมือนจะเป็นขั้วตรงข้ามในแนวคิดของธุรกิจโรมแรม ระหว่างแนวคิดโรงแรมเชิงธุรกิจขนาดใหญ่และโรงแรมที่มีการออกแบบ (design) ที่น่าสนใจและมีขนาดเล็ก แต่ขายห้องได้แพงกว่า การร่วมมือดังกล่าว ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าเป็นความพ่ายแพ้ของกลุ่ม Design Hotels เพราะต้องยอมขายหุ้นส่วนใหญ่ให้กับ Starwood ไป แต่ที่จริงแล้วในทางกลับกัน ชัยชนะกลับตกอยู่กับ Design Hotels เพราะเป็นฝ่ายที่สามารถขยายฐานลูกค้าเข้าไปในสมาชิกระดับ VIP ของ Starwood ได้อีกเป็นจำนวนมหาศาล และทำให้ฐานลูกค้าของสมาชิกในกลุ่ม Design Hotels มีเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และปรับตัวได้สอดคล้องว่องไวรับกับสถานการณ์การชลอตัวทางเศรษฐกิจในยุโรปได้เป็นอย่างดี
ในโลกของธุรกิจในอนาคต เรากำลังมีชีวิตอยู่ท่ามกลางขนาดของตลาดที่ใหญ่ขึ้น ความหลากหลายในของความต้องการของผู้บริโภค และการเข้าถึงแบบหนึ่งต่อหนึ่งของสังคมออนไลน์และสื่อสังคมเครือข่าย (social network) ต่างๆ วิธีที่บริษัทใดบริษัทหนึ่ง หรือแบรนด์ใดเพียงหนึ่งเดียวจะลงทุนเพื่อเป็น ‘หนึ่งเดียว’ ในตลาดนั้น ก็ดูจะเป็นเรื่องที่ใหญ่โตจนน่าเหนื่อย หรือมีความเสี่ยงสูงจนน่ากลัว เมื่อนำแนวคิดของ collaboration มาเป็นโครงสร้างของธุรกิจในยุคใหม่ ก็ดูเหมือนจะไปกันได้ดีกับบริบทของตลาดที่เปลี่ยนแปลงได้สอดคล้องขึ้น
ยกตัวอย่างการร่วมมือของ ‘กลุ่มบริษัท’ ที่ออกไปนำเสนองานด้วยกัน สามารถตอบสนองกับขนาดของตลาดที่ใหญ่ขึ้นได้ เนื่องจากขีดความสามารถของการตลาดก็จะเพิ่มขึ้นตามจำนวนของบริษัทในกลุ่มนั้น เมื่อต้องตอบสนองกับความต้องการที่หลากหลายในแง่ของผลิตภัณฑ์หรือการให้บริการ ‘ความร่วมมือ’ เหล่านั้น ก็ย่อมจะนำเสนอความหลากหลายขิงผลิตภัณฑ์หรือบริการได้ดีกว่าบริษัทใดเพียงหนึ่งเดียว เมื่อเกิดการร่วมมือของกลุ่ม แน่นอนว่า ‘สังคม’ ที่อยู่แวดล้อมแต่ละบริษัทในกลุ่มนั้นก็จะเกิดการเชื่อมโยงไปด้วย และทำให้ขนาดของสังคมเครือข่ายนั้นมีขนาดที่ใหญ่ตามไปด้วย และเกิด exposure ของสินค้าและบริการที่มากขึ้นโดยอัตโนมัติ
เศรษฐกิจในระดับประเทศที่มีการ collaborate กันระหว่างภาครัฐกับเอกชน ก็จะทำให้ช่องว่างของนโยบายรัฐกับความต้องการของภาคเอกชนลดลง และมีความสอดคล้องกันมากขึ้น รัฐจะได้คิดและทำในสิ่งที่เอกชนต้องการ และเอกชนก็จะสามารถกำหนดนโยบายที่เป็นประโยชน์ในการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจได้ และในทางตรงกันข้ามหากปราศจากการ collaborate ดังกล่าวของภาครัฐและเอกชน รัฐกำหนดนโยบายเพียงลำพัง ก็จะทำให้ความสามารถในการแข่งขันในอนาคตลดลงอย่างน่ากลัวเป็นลำดับ เพราะไม่สามารถทำให้ระบบธุรกิจเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับบริบททางเศรษฐกิจของโลกสมัยใหม่ได้
การ collaborate จึงน่าจะเป็นแนวทาง (trend) ที่ควรจะได้รับความสนใจในมุมมองใหม่ของการขับเคลื่อนทางธุรกิจในอนาคต การร่วมมือกันหลายๆคนในการทำงานที่เคยทำด้วยตัวคนเดียว อาจจะทำให้เราเข้มแข็งขึ้นในยุคที่เศรษฐกิจเริ่มจะหายใจลำบากขึ้น หลายหัวย่อมดีกว่าหัวเดียวในการเปิดตลาดใหม่ๆ สร้างพื้นที่ธุรกิจใหม่ๆ หรือแม้กระทั่งในการแข่งขันทางธุรกิจต่างๆ ตัวหารอาจจะเยอะขึ้น แต่เมื่อเทียบกับตลาดที่ได้ที่ใหญ่ขึ้น อาจจะเป็นหนึ่งในแนวทางเดียวที่จะพาเรารอดรูเข็มของความยากลำบากที่จะเข้ามาในระลอกใหม่นี้ไปได้