บทสนทนาแห่งการโน้มน้าว (Enrollment Conversation)

บทสนทนาที่ผมมีกับนักศึกษาสถาปัตย์ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม น่าสนใจดีครับ

เขาถามผมว่าผมมีคำแนะนำอะไรให้กับวิทยานิพนธ์ของเขาบ้าง ผมถามพวกเขาว่าอะไรคือความตั้งใจใน’เกมส์’ที่เขามีสำหรับวิทยานิพนธ์ของเขา ถามว่าเขาทำวิทยานิพนธ์ไปทำไม ทุกคนตอบว่าทำเพื่อให้เรียนจบ มีบางคนบอกว่าทำเพิ่อให้ได้ความรู้อยู่บ้าง ผมก็ถามว่าได้ความรู้แต่เรียนไม่จบเอามั้ย เขาก็ไม่เอา สรุปคือทุกคนทำวิทยานิพนธ์เพื่อให้เรียนจบ และทุกคนก็ชัดเจนตรงนั้น ผมบอกพวกเขาว่าถ้าเขาชัดเจนกับ’เกมส์’ที่เขาเล่น มันก็เป็นไปได้ที่เขาจะชนะ’เกมส์’นั้น ทุกคนชัดเจนในตอนนั้นว่าการทำวิทยานิพนธ์ก็คือความตั้งใจที่จะ’เรียนจบ’และนั่นคือ’เกมส์’ของวิทยานิพนธ์ และเขาต้องการความเป็นไปได้ที่จะ’100%จบ’ ไม่ใช่ 80% หรือ 50%

ผมถามเขาว่า แล้วเขาต้องลงมือทำอะไรบ้าง หรือทำอย่างไรเพื่อให้พวกเขาชนะเกมส์นี้ นักศึกษาคนหนึ่งก็พูดขึ้นมาว่า ควรจะตามใจอาจารย์ที่ปรึกษาไป ท่านบอกให้ทำอะไรก็ทำตามทุกอย่าง อันนั้นจบแน่ 100% ผมก็ถามว่าก็ถ้าอาจารย์ที่ปรึกษาดูแบบแล้วอยากให้เราเลี้ยวขวา แต่เราอยากเลี้ยวซ้าย แล้วเราก็ทำแบบเลี้ยวซ้าย เราจะจบมั้ย พวกเขาก็ชัดเจนว่าอาจจะมีความเป็นไปได้ที่จะไม่จบ เพราะอาจารย์ที่ตรวจวิทยานิพนธ์ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาเราจะไม่เห็นด้วยกับแบบที่เราทำ หรืออาจจะ’ให้จบ’ แต่มันก็จะไม่ ‘100%จบ’ ในทางกลับกันก็เช่นเดียวกัน ถ้าอาจารย์บอกให้เราเลี้ยวขวาแล้วเราก็ตามใจอาจารย์เลี้ยวขวาไป ก็ไม่ใช่’100%จบ’เพราะอาจารย์ที่ตรวจที่ไม่ใช่อาจารย์ที่ปรึกษา อาจจะคิดว่าเลี้ยวซ้ายดีกว่าก็ได้ พวกเขาชัดเจนว่า ไม่ว่าจะ’เชื่อฟัง’หรือ’ต่อต้าน’อาจารย์ ก็ไม่ได้ทำให้เขาอยู่ใน’เกมส์’ที่จะทำให้เขา’100%จบ’ และเขาก็ไม่ควรไปกังวลตรงนั้น และเริ่มมองหาวิธีของการลงมือทำที่จะทำให้เขาอยู่ในเกมส์ที่จะทำให้เขาจบแบบ ‘100%จบ’

พวกเขาก็เริ่มบอกว่า ถ้าพวกเขามีความรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับวิทยานิพนธ์ มันอาจจะทำให้พวกเขามีโอกาสจบแบบ ‘100%จบ’ ได้ ผมก็เห็นด้วยว่าจริง แต่โอกาสที่เราจะรู้ ‘ทุกอย่าง’ เกี่ยวกับโครงการที่เราทำนั้น มันเป็นไปได้มากแค่ไหน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการที่เราจะรู้ ‘มาก’ ไปกว่าอาจารย์นั้น น่าจะเป็นไปได้ยาก ถ้าสิ่งที่เรารู้มันนำไปสู่การตัดสินถูกผิด อันนั้นก็ยิ่งอันตรายมากขึ้น และไม่ทำให้เราไปอยู่ในเกมส์ที่ว่า ‘100%จบ’ นี่แน่ๆ ความรู้ที่มากขึ้น หรือความรู้ที่รู้ทุกอย่างเกี่ยวกับวิทยานิพนธ์ มันก็ไม่ได้พาเขาเข้าไปในเกมส์ที่เขากำลังเล่นอยู่

ผมแนะนำให้เขารู้จักกับบทสนทนาแห่ง ‘การโน้มน้าว’ (enrollment conversation) ซึ่งไม่ใช่การชักจูงหรือหลอกล่อ แต่เป็นการสร้าง ‘โลก’ หรือ ‘อาณาจักร’ ของโครงการของเขาให้ปรากฏขึ้นตรงหน้าในบทสนทนา ในวิธีที่ผู้ฟังจะถูกโน้มน้าวให้เกิดแรงบันดาลใจ ผมโน้มน้าวพวกเขาให้เห็นภาพโครงการ The Naka Phuket โดยการทำให้เขาเห็นภาพห้องพักแบบวิลล่า ที่ยื่นออกมาจากภูเขา ส่วนของห้องนอนที่ลอยอยู่ในอากาศและยื่นออกมาจากอาคารลอยอยู่เหนือเนินเขาด้านล่างและมองเห็นทะเลได้จากกระจกใสที่อยู่โดยรอบห้องนอนนั้น ผมถามว่าพวกเขารู้สึกตื่นเต้นไปกับภาพที่ผมสร้างขึ้นตรงหน้าในบทสนทนานี้หรือไม่ ทุกคนในห้องยกมือครบทุกคน ผมบอกพวกเขาว่า และถ้าคุณทำแบบเดียวกันได้ อาจารย์ที่ตรวจวิทยานิพนธ์พวกคุณก็จะยกมือครบทุกคนเหมือนกัน ไม่มีใครตัดสินว่างานของคุณถูกหรือผิด แต่พวกเขาจะถูกโน้มน้าวเข้าไปในความเป็นไปได้ที่คุณสร้างขึ้น และเกิดแรงบันดาลใจเช่นกัน และนี่เป็นการลงมือทำแบบเดียวที่ผมรู้ที่จะทำให้คุณอยู่ในเกมส์แบบที่ ‘100%จบ’

ผมถามพวกเขาว่า เขาอยากจะลอง’โน้มน้าว’ผม ให้ผมเข้าไปสู่โครงการของเขาบ้างหรือไม่ และก็มีหลายคนได้ลองทำ พวกเขาค้นพบว่ามันไม่ได้ง่ายอย่างที่พวกเขาคิด และพวกเขามักจะหลุดจากบทสนทนาการโน้มน้าวไปที่ ‘การอธิบาย’อยู่ตลอดเวลา ผมทำให้พวกเขาเห็นว่าการอธิบาย ไม่ได้ทำให้ผู้พูดและผู้ฟังเกิดแรงบันดาลใจ และเป็นประสบการณ์ความ’หนัก’ของผู้พูดในการที่ต้องอธิบาย และเป็นประสบการณ์ของการ’ตัดสิน’สำหรับผู้ฟัง ผมได้ทำให้เขามีประสบการณ์ในการ’โน้มน้าว’และไม่ใช่การอธิบาย เขาพูดและมีการเชื่อมโยงกับคนฟัง เต้นรำไปกับสิ่งที่เขาสร้างขึ้นในฐานะความเป็นไปได้ของโครงการ พวกเขาตื่นเต้นกับบทสนทนาที่เขาสร้างขึ้นในวิธีที่ทำให้เขาและทุกคนในห้องมีชีวิตชีวา

น้องนักศึกษาคนหนึ่งซึ่งดูเป็นคนที่เงียบขรึมและไม่มั่นใจในตัวเองคนหนึ่ง ลุกขึ้นยืนขึ้นมาอาสาที่จะทดลองโน้มน้าวโครงการของเธอบ้าง มันเป็นความมหัศจรรย์สำหรับผมที่ผมได้เห็นเธอพลิกไปเดี๋ยวนั้น เธอดูเหมือนเปลี่ยนไปเป็นคนละคนทันทีที่เธอเริ่มต้นบทสนทนาโน้มน้าวเกี่ยวกับโครงการของเธอ เธอเบิกบานมีชีวิตชีวา และสร้างภาพของโครงการเธอให้พวกเราเห็นตรงหน้าอย่างน่าตื่นเต้น และเมื่อผมถามทุกคนในห้องว่ามีใครถูกโน้มน้าวบ้าง ทุกคนยกมือกันเกือบเต็มห้อง ผมถามเธอว่าเธอมีประสบการณ์อย่างไรบ้าง เธอบอกว่าเธอสนุกสนาน เบา ไม่กดดัน และตื่นเต้นไปตลอดเวลาที่เธอโน้มน้าว ผมถามว่าตอนที่เธอโน้มน้าวนั้น มีส่วนไหนของโครงการที่เธอ’ติด’หรือโน้มน้าวไม่ได้มั้ย เธอบอกว่ามีตรงถนนทางเข้าโครงการที่เธอโน้มน้าวไม่ได้เพราะเธอไม่ชอบมัน ผมบอกว่านั่นแหละคือคำแนะนำที่ผมมีให้สำหรับแบบของคุณ ผมทำให้พวกเขาเห็นว่าพวกเขาสามารถสร้างคำแนะนำสำหรับแบบของตัวเองได้ตลอดเวลาจากการที่พวกเขาโน้มน้าวผู้อื่นเข้าไปในความเป็นไปได้ที่เขาสร้างขึ้นสำหรับโครงการของพวกเขา และมันก็เป็นวิธีที่ทรงพลังมากกว่าการตรวจแบบของอาจารย์ที่ปรึกษาเสียอีก ถึงตอนนี้พวกเขาเริ่มเข้าใจแล้วว่าบทสนทนาที่พวกเขามีมาก่อนหน้านี้ว่าควร ‘ตามใจ’ อาจารย์ที่ปรึกษาหรือไม่ในการทำวิทยานิพนธ์นั้น มันน่าขบขันสิ้นดี

พวกเขาเริ่มกลับมาตื่นเต้นกับการทำวิทยานิพนธ์กันอีกครั้งจากความเป็นไปได้ที่พวกเขาจะอยู่ในเกมส์ ‘100%จบ’ จากบทสนทนาของการโน้มน้าวที่ให้แรงบันดาลใจสำหรับพวกเขาและผู้อื่น และเริ่มเห็นความเป็นไปได้ที่เขาจะจบแบบ 100% และเป็นสถาปนิกที่ยอดเยี่ยมในอนาคต

Submit a comment

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s