บทสนทนาของการเป็นปรมาจารย์แห่งชีวิต

“สิ่งที่เราคิดว่าเป็นตัวเรานั้น แท้จริงแล้วคือสิ่งใด อาจเป็นไปได้ว่ามันเป็นเพียงสัมผัส อารมณ์ ความรู้สึก และความคิด ที่ปรากฏขึ้นในพื้นที่เดียวกันกับทุกสิ่งทุกอย่างที่เหลือที่ไม่ใช่ตัวเรา และตัวเราที่แท้จริงคือทั้งหมดของพื้นที่นั้น” – Werner Erhard

บทสนทนาของการเป็นปรามาจารย์ เริ่มต้นจากการที่เราต้องพยายามอย่างหนักเพื่อให้ประจักษ์ว่า เราไม่รู้สิ่งที่เราคิดว่าเรารู้ และนั่นเป็นบทเรียนแรกของปราชญ์ทุกคนที่สุดแสนจะขมขื่น

ลองค้นหาสิ ว่าไอ้สิ่งที่เราเรียกว่า ‘เรา’ ( ‘I’ or ‘me’) นั้นมันคืออะไร เราพูดถึง ‘I’ ราวกับว่าเรารู้ว่ามันคืออะไร ไหนลองบอกได้หรือไม่ว่ามันคืออะไร

ถ้าเราคือร่างกายของเรา การที่คนสูญเสียแขนหรือขาไปนั่นจะทำให้เขาเป็น ‘I’ น้อยลงหรือไม่ หรือถ้าเราบอกว่า ‘I’ มันไม่มีตัวตน เวลาโดนตบแล้วเจ็บ ผิวหนังที่รู้สึกว่าเจ็บก็เพราะมี ‘I’ มาบอกว่าเจ็บ ดังนั่นการบอกว่า ‘I’ เป็น non-thing นั้นจึงเป็นแค่ทฤษฎีที่ตอแหลสิ้นดี

เรามีอยู่จริง แต่เราหรือ ‘I’ อาจจะไม่ได้มีอยู่ หรือ ‘เป็น’ ในสิ่งที่เราคิดว่ามันเป็น ถ้าคุณคิดว่าความคิดหรืออารมณ์ความรู้สึกคือตัวคุณ ลองถามตัวเองซิ ว่าคุณควบคุมมันได้หรือไม่ ‘อย่าคิดถึงช้างสีชมพู’ สิ่งแรกที่จะคิดถึงก็คือช้างสีชมพู ‘อย่าเศร้าสิ’ ก็ไม่เคยทำให้ความเศร้าหายไป

การขึ้นไปยอดเขาของการเป็นปรมาจารย์ ก้าวแรกคือการทำให้ปรากฏชัดว่า ตัว ‘เรา’ ไม่ใช่สิ่งที่เราเข้าใจในฐานะตัวเรา ‘I’ ไม่ใช่สิ่งที่เราคิดว่าเราเข้าใจ แล้วดังนั้น ‘เรา’ หรือ ‘I’ นั้นมันอยู่ที่ไหนกัน

เราอาจจะคิดว่า ‘เรา’ คือสภาวะภายใน (Internal State) ของเรา ไม่ว่าจะเป็นสัมผัสทางร่างกาย (Body Sensation) อารมณ์ความรู้สึก (Emotional state) ภาวะการรับรู้ (Mental State) หรือ ความคิด (Thoughts) ของเรา แต่ถ้ามันเป็นเราทำไมเราถึงควบคุมมันไม่ได้ หรือเราอาจคิดว่าเราคือสมองของเรา แต่เราบอกได้หรือไม่ แม้ในทางการแพทย์ก็ชี้ชัดไม่ได้ว่าส่วนไหนของสมองที่เป็นตัวเราจริงๆ

เอาล่ะ ตอนนี้ให้เลิกคิด ย้ำ เลิกคิด แล้วให้มีประสบการณ์จริง ลองเอามือหยิกที่แขนดู ปรากฏว่ามีความเจ็บเกิดขึ้นโดยที่ตัว ‘เรา’ เป็นคนบอกว่ามันเจ็บ ให้หาสิว่าตัว ‘เรา’ ที่บอกว่ามันเจ็บนั่นอยู่ที่ไหน ไม่เอาเป็น concept นะ เอาแบบชี้จริงๆเลยเป็นตำแหน่งเฉพาะเจาะจงเลยว่าตัว ‘เรา’ หรือ ‘I’ นั่นมันอยู่ที่ไหน

อยากให้สัมผัสเลยว่า มันมีตัว ‘เรา’ อยู่ที่ไหนซักแห่งที่บอกว่าเราเจ็บที่แขน แต่แน่ๆว่า ‘เรา’ ไม่ได้อยู่ที่แขนแน่ๆ ประสบการณ์ในชีวิตรู้สึกว่าตัว ‘เรา’ อยู่ที่แขนทุกวันหรือเปล่า ถ้าไม่ใช่ นั่นก็ไม่ใช่ ‘เรา’ ที่อยู่ตรงนั้น แต่มี ‘เรา’ อยู่ที่ไหนซักแห่งแน่ๆ เพราะแขนมันจะรู้สึกเจ็บเองไม่ได้

ประเด็นของแบบฝึกหัดนี้ไม่ได้จะทำให้เห็นว่า ‘เรา’ อยู่ที่ไหน แต่จะทำให้เห็นว่ามีตัว ‘เรา’ อยู่ และเป็นการพิสูจน์ว่ามี ‘เรา’ อยู่ แต่เราไม่เคยบอกให้ชัดเจนลงไปได้จริงๆว่า ‘เรา’ อยู่ที่ไหน ถ้าเราบอกว่าเราคือร่างกายของเรา มองให้ลึกลงไปร่างกายของเราก็เป็นแค่โมเลกุล ไม่สามารถจะบอกให้เรารู้สึกเจ็บแขนได้ เห็นได้ว่า ‘เรา’ นั้นมีอยู่จริง เพียงแต่ไม่ใช่ในลักษณะที่เราคิดว่ามันเป็น หรือในวิธีที่มันเป็นเท่านั้น

แบบฝึกหัดต่อไป ให้ถามคำถามที่่เรียบง่ายจนปรากฏคำตอบที่ว่า ตัว’เรา’อยู่’ที่นี่’ (here) และทุก’สิ่งอื่น’ที่เหลือนั้นอยู่’ที่นั่น'(there) เรามองเห็น’สิ่งอื่น’นั้นเหลือไม่ และถ้าเห็น การมองเห็นนั้นเกิดขึ้นที่ใด แม้ว่าเราจะคิดว่าการมองเห็นเกิดขึ้นที่ตาเรา ให้พิจารณาลงไปให้ลึกว่าการมองเห็นนั้นเกิดขึ้นที่ตาของเราจริงๆหรือเปล่า ถ้าเรากำลังมองไปที่เพื่ิอนของเรา ภาพเล็กๆที่กลับหัวอยู่บนเรตินาในดวงตาเรานั้นคือการมอง’เห็น’เพื่อนของเราจริงหรือไม่ ความรู้สึกจากแบบฝึกหัดจริงที่ไม่ใช่ความคิดหรือทฤษฎีจะช่วยให้เห็นประสบการณ์จริงว่าการ’เห็น’นั้นเกิดขึ้นข้างนอกนั่น (there) และไม่ใช่ที่ตัว’เรา’ ที่นี่(here)เราเคยคิดว่าเป็นตัวเรา

ถ้าการมองเห็นของ’เรา’ เกิดขึ้นที่นั่น(there) ก็เป็นไปได้ที่เราอาจมีมุมมองได้ว่า ตัว’เรา’ ไม่ได้อยู่ ‘ที่นี่’ เสียแล้ว ทุกอย่างที่เราเคยคิดว่าเป็นตัวเราแท้จริงอยู่ข้างนอกนั่น มีความเป็นไปได้จากแบบฝึกหัดนี้ที่เราจะเห็นว่าตัวเราเป็นพื้นที่ (clearing) ของทุกๆสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตของเราและโอบอุ้มเอาไว้ รวมทั้งบางสิ่งบางอย่างที่เราเคยคิดว่าเป็นตัวเราที่เรา ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ สัมผัส ความคิด หรือภาวะของจิตใจ ต่างก็ปรากฏขึ้นในพื้นที่ (clearing) นี้ทั้งสิ้น และในที่สุด เราก็ค้นพบได้ว่าตัว’เรา’ที่แท้จริงนั้นอยู่ที่ใด

ทั้งหมดของทั้งชีวิตเรา ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ สิ่งของ หรือผู้คน ล้วนปรากฏขึ้นภายในพื้น(clearing)ของเราที่เป็นตัวเราที่แท้จริง รวมทั้งบางสิ่งที่เราเคยเรียกว่าเป็นตัว’เรา’ ก็ล้วนปรากฏขึ้นในพื้นที่นี่ด้วย

เมื่อ’เรา’กลายเป็นพื้นที่ที่ให้ทั้งหมดของชีวิตปรากฏขึ้นนั้น เราไม่ได้ใช้ชีวิตแบบ’เรา’อยู่ที่นี่ (here) และชีวิตอยู่ที่นั่น (there) อีกต่อไป เรียกได้ว่าเราได้นำเอาชีวิตของเราออกมาที่นี่ (out here) และใช้ชีวิตจากในพื้นที่ๆเรามีชีวิตอยู่จริงๆ และสามารถเต้นรำไปกับชีวิตได้โดยไม่ต้องคอยกังวลที่จะให้ความหมายหรืิอคิดวิเคราะห์กับชีวิต

ประสบการณ์ของการใช้ชีวิตแบบ Out here สามารถเห็นได้ชัดเจนขึ้นกับแบบฝึกหัดง่ายๆโดยให้ยกขวดน้ำขวดหนึ่ง แล้วสัมผัสถึงน้ำหนักของขวดและชัดเจนเลยว่าน้ำหนักของขวดอยู่ที่ไหน เสร็จแล้วเปลี่ยนเป็นถือไม้กอล์ฟในแนวดิ่ง จะสัมผัสของน้ำหนักของไม้กอล์ฟเสมือนอยู่กับที่ปลายหัวไม้และไม่ใช่ที่มืออีกจับไม้กอล์ฟนั้นอยู่อีกต่อไป

มันเป็นไปได้ที่สิ่งหนึ่งจะอยู่ที่นี่ (here) แต่เรารู้สึกว่ามันอยู่ที่นั่น (there) เราจับไม้กอล์ฟไว้ในมือของเราตรงนี้’ที่นี่’ แต่เรากลับรู้สึกว่าน้ำหนักของไม้กอล์ฟอยู่ที่ปลายไม้กอล์ฟ ‘ที่นั่น’ บางสิ่งบางอย่างที่เราคิดว่ามันอยู่ ‘ที่นี่’ เช่นตัว’เรา’ ก็อาจมีสัมผัสว่ามันอยู่ ‘ที่นั่น’ได้ในลักษณะคล้ายกัน เรารู้สึกว่าเราอยู่’ที่นี่’ ทุกๆสิ่งที่เหลือที่ไม่ใช่เราอยู่’ที่นั่น’ ฉันเห็นเธออยู่ตรงหน้า แต่การ’เห็นเธอ’ของฉันมันกลับไม่ได้มีประสบการณ์ว่ามันเกิดขึ้น’ที่นี่’ แต่มันกลับเกิดขึ้น’ที่นั่น’ การมองเห็นของเราอยู่’ที่นั่น’ สิ่งที่เราคิดว่าเป็นการมองเห็นของ’เรา’ กลับไม่ได้เกิดขึ้น’ที่นี่’ ที่เดียวกับที่เราอยู่ แต่กลับอยู่ที่’ที่นั่น’ เหมือนน้ำหนักของหัวไม้กอล์ฟที่อยู่’ที่นั่น’ หรือว่าที่จริงแล้ว ‘เรา’ไม่ได้อยู่’ที่นี่’ หรือสิ่งที่เราเรียกว่าเรา’ที่นี่’นั้น มันไม่ใช่ตัวเรา และมันอยู่ข้างนอก’ที่นั่น’ อยู่ที่เดียวกับทุกๆสิ่งที่เหลือที่ไม่ใช่ตัวเรา ที่เดียวกับที่’ชีวิต’เราอยู่ ที่เดียวกับผู้คนและทั้งหมดที่ไม่ใช่ตัวเรา

และนี่คือการมองในการแยกแยะของ Out-here

การเป็นปรมาจารย์ คือคนธรรมดา ที่เห็นชีวิต เข้าใจ และมีความสัมพันธ์กับชีวิตอย่างแตกต่างไป

ถ้าเลือกที่จะมองเห็นว่า’เรา’ คือพื้นที่ (clearing) ของที่ชีวิตปรากฏขึ้น รวมทั้งสิ่งนั้นที่เราเคยคิดว่ามันคือตัวเราอยู่ในพื้นที่นั้น เราก็จะสามารถ Out-here กับชีวิต กับผู้คน และเต้นรำไปกับมัน แทนที่จะเสียเวลามานั่งพิจารณาว่ามันคืออะไร เราไม่สามารถเต้นรำ’เพื่ิอที่จะ’ (in order to) ให้บางอย่างเกิดขึ้น เราก็แค่เต้นรำ เรากลายเป็นทั้งหมดของชีวิตเราอย่างแท้จริง และบางสิ่งบางอย่างที่เราเคยคิดว่ามันคือตัวเรา อารมณ์ ความคิด ความรู้สึก สัมผัสรู้เหล่านั้น หรือภาวะภายในของเรา (Internal states) ล้วนเป็นแค่อีกสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ (clearing) ของตัวเราเท่านั้น และเมื่อเรามีเครื่องมือเข้าไปจัดการกับสิ่งที่เราเคยคิดว่าเป็นตัวเรา จัดการกับภาวะภายในของเราได้ เมื่อนั้นองค์ประกอบของการเป็นปรมาจารย์ก็จะครบถ้วนสมบูรณ์ และไม่มียอดเขาใดที่จะสูงไปกว่านี้

Submit a comment

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s